วันจันทร์ที่ 5 มกราคม 2558 www.jiewfudao.com
.jpg)
ดอก “โบตั๋น” เป็นชื่อเรียกดอกไม้ที่คนไทยคุ้นเคยกันดี ถ้าออกเสียงในสำเนียงจีนกลางจะเรียกโบตั๋นว่า “หมู่ตาน”(牡丹) นอกจากนี้โบตั๋นยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก อาทิ “ฟู่กุ้ยฮวา”(富贵花), “ฮวาหวัง”(花王) , “ลู่จิ่ว”(鹿韭) , และ “ลั่วหยางหวัง”(洛阳王)
ความงดงามของดอกโบตั๋นได้รับสมญานามว่า “ราชันย์แห่งบุปผา” (华中之王) หรือ “ดอกไม้อันงดงามลำดับหนึ่งแห่งแผ่นดิน” บ้างก็ว่าเป็นนางพญาแห่งดอกไม้ด้วยสีสันอันสดสวยและความสง่าของดอกโบตั๋น มันจึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความสวยสง่า ดั่งกุลสตรีที่มากทั้งภูมิปัญญาและความสามารถ อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของสูงส่ง ความร่ำรวย ความโชคดี ที่สำคัญก็คือ ในความรู้สึกของชาวจีนนั้นดอกโบตั๋น(หมู่ตานฮวา) ได้รับการยกย่องจากประชาชนทั่วไปให้เป็นเสมือน “ดอกไม้ประจำชาติ”ของสาธารณรัฐประชาชนจีน
มีคำกล่าวไว้ว่า โบตั๋นเป็นดอกไม้อันวิเศษสุดแห่งมวลมนุษยชาติ เป็นดอกไม้ที่สูงศักดิ์และเหนือยิ่งกว่าดอกไม้ใด ๆ กวีในสมัยราชวงศ์ถังกล่าวชมเชยความงามแห่งโบตั๋นไว้ว่า ดอกไม้งามนามโบตั๋นนั้นประกอบไปด้วยความงามสามประการ คือ งามด้วยสี,หอมด้วยกลิ่น,และอ่อนหวานยามสัมผัส ในบทกวียังรจนาไว้อีกว่า โบตั๋นนั้นเปรียบดั่งหญิงงามที่เพียบพร้อม ความหอมและสีของโบตั๋นนั้น เป็นกลิ่นหอมจากสวรรค์แต่งแต้มสีสันให้แก่แผ่นดิน
ตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับดอกโบตั๋นที่มีผู้เรียกว่า “ลั่วหยางฮวา”(洛阳花) นั้นมาจากนครลั่วหยาง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์โบตั๋นและมีพันธุ์ของดอกบตั๋นมากกว่า 500 พันธุ์ ในเดือนเมษายนของทุกปี นครลั่วหยางจะจัดเทศกาลดอกโบตั๋น(洛阳牡丹节)ขึ้นเป็นเทศกาลประจำปี ที่สวนสาธารณะหวังเฉิงกงเอวี๋ยน(王城公园) ในช่วงเวลานั้น ดอกโบตั๋นจะเบ่งบานสะพรั่งละลานตาพร้อม ๆ กันทั่วทั้งสวน
.jpg)

เทศกาลดอกโบตั๋นที่สวนสาธารณหวังเฉิงกงเอวี๋ยน
การที่ดอกโบตั๋นมีมากที่ลั่วหยางนั้น ว่ากันว่า ในราชวงศ์ถัง สมัยจักรพรรดินีบูเช็กเทียน (武则天) ซึ่งพระนางทรงโปรดปรานดอกไม้มาก วันหนึ่งจึงรับสั่งให้ดอกไม้ทั่วทั้งนครหลวงฉางอานให้เบ่งบานให้หมด ทำให้เทพเจ้าแห่งดอกไม้ตระหนกตกใจและสั่งให้ดอกไม้ทุกดอกผลิบานให้หมด คงมีเพียงดอกโบตั๋นที่แข็งขืนไม่ยอมทำตาม ทำให้บูเช็คเทียนกริ้วมาก จึงมีพระราชโองการให้ขนย้ายดอกโบตั๋นออกจากเมืองหลวงที่ฉางอาน ออกไปอยู่ที่เมืองลั่วหยาง นี่เองจึงทำให้มีผู้เรียกดอกโบตั๋นว่า “ดอกลั่วหยาง” หรือ “ลั่วหยางหวัง”
ทุกวันนี้ ดอกโบตั๋นกลายเป็นสัญลักษณ์ของความสวยสง่า เปรียบเหมือนผู้ดีในราชสำนัก แสดงออกในฐานะของความร่ำรวย สูงส่ง รวมทั้งแฝงความหมายถึงชื่อเสียงเกียรติยศด้วยเช่นกัน
อ้างอิงจาก :
- หนังสือ 108 ลัญลักษณ์จีน – ปิยะแสง จันทรวงศไพศาล
- http://hao.ymt360.com/gongying/101071/
- http://news.163.com/12/0415/12/7V4NOOPO00014JB6.html