วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม 2556 www.jiewfudao.com

"ไผ่" (竹)ในภาษาจีนออกเสียงเรียกว่า "จู๋"(竹) หรือ "จู๋จื่อ" (竹子) ถูกจัดให้เป็น 1 ใน 3 สหายเหมันต์ ซึ่งประกอบไปด้วย ไผ่-สน-เหมย เป็นพืชมงคลที่เป็นสัญลักษณ์ถึงความเข้มแข็งและความทรนง ในธรรมชาติของต้นไผ่ เมื่อถึงยามฤดูหนาว ต้นไผ่ก็ยังเขียวชอุ่มไม่ร่วงโรย แม้ยามพายุฝนโหมกระหน่ำ ต้นไผ่ก็จะโอนอ่อนผ่อนตาม ลำต้นไผ่จะโค้งงอตามสายลม แต่ก็ไม่หักโค่น
เมื่อท่านมองเห็นภาพไผ่ นั่นหมายถึง "ความเข้มแข็งและทรนงของไผ่ที่ไม่เคยหักโค่นแม้ยามลมแรง" ในขณะที่ความเขียวชอุ่มตลอดปีของต้นไผ่ก็หมายถึง "ความเยาว์วัยและความสดชื่นดั่งชีวิตมนุษย์ในวัยหนุ่มสาว"
อักษรจีนคำว่า "ไผ่" อ่านว่า "จู๋" มีเสียงอ่านใกล้เคียงกับคำว่า "จู้" (祝) ที่แปลว่า "อวยพร" ดังนั้น นอกจากภาพไผ่จะหมายถึงความเข้มแข็ง ความทรนงแล้ว ยังเป็นการอวยพรพร้อมกันไปด้วย เช่น ภาพต้นไผ่กับนกกระเรียนก็หมายความว่า "ขอให้ท่านมีอายุยืนยาว" ภาพไผ่กับดอกโบตั๋นก็มีความหมายว่า "ขออวยพรให้ท่านร่ำรวย มีเงินมีทองมากมาย" เป็นต้น
นอกจากนี้ "ไผ่" ยังเป็นสัญลักษณ์ความหมายถึงคุณธรรมอันเป็นลักษณะของวิญญูชน เพราะว่าต้นไผ่นั้นลำต้นจะตั้งตรง ไม่คดงอ ไม่ว่าพายุนั้น(เปรียบเทียบกับอุปสรรค) จะมีมากแค่ไหนก็ตาม ต้นไผ่ก็ไม่เคยล้ม (เปรียบได้กับความเข้มแข็ง) นี่เองที่เป็นคุณลักษณะอันพิเศษของไผ่ ด้วยความที่ต้นไผ่นั้นเป็นพืชที่เจริญงอกงามและเขียวสดใสตลอดทั้งปี
สำหรับชาวจีนแล้วมีความผูกพันกับไผ่จนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมจีน อาทิ ตำราหนังสือจีนโบราณก็ทำจากม้วนไม้ไผ่ พู่กันเขียนหนังสือก็ทำจากไผ่ ตะเกียบอันเป็นวัฒนธรรมการกินประจำชาติของจีนก็ใช้ไผ่ในการทำ เครื่องเรือนจีนก็สร้างมาจากไผ่เช่นกัน แม้แต่ประทัดก็ทำมาจากไม้ไผ่ เพราะเสียงแตกของไม้ไผ่ในกองไฟ คนจีนในสมัยโบราณเชื่อว่าทำให้ภูติผีเกรงกลัว
ด้วยคุณสมบัติต่าง ๆ ของไผ่ดังกล่าว คติทางวัฒนธรรมจีนจึงให้ความชื่นชมและยกย่องไผ่เป็นอย่างสูง และสิ่งนี้เองที่ทำให้มีต้นไผ่อยู่มากมายทั่วทั้งประเทศ จนกระทั้ง มีคำกล่าวถึงประเทศจีนว่าเป็น "ดินแดงหลังม่านไม้ไผ่"
อ้างอิงจาก : หนังสือ 108 ลัญลักษณ์จีน – ปิยะแสง จันทรวงศไพศาล
- http://www.nipic.com/show/3/41/45fa2ae096cc32fc.html