วันพุธที่ 12 กันยายน 2555 www.jiewfudao.com
.jpg)
พระเจ้าถังไท่จง唐太宗 เว่ยเจิง魏征
พระเจ้าถังไท่จง 唐太宗(หลี่ซื่อหมิน 李世民) ครั้งยังทรงพระเยาว์ได้ช่วยพระราชบิดา(หลี่ยวน) สถาปนาราชวงศ์ถัง 唐朝ขึ้น พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่เชี่ยวชาญในการทำสงคราม ทรงมีจิตใจที่ดีงามต่อผู้ใต้บังคับบัญชา และทรงมีอำนาจบารมีแผ่ไพศาล ในรัชสมัยของพระเจ้าถังไท่จง พระองค์ทรงมีชื่อเรียกในรัชสมัยการปกครองว่าเจินกวาน 贞观 (ปีค.ศ.627-ปีค.ศ.649) เนื่องจากพระเจ้าถังไท่จง ทรงเห็นการปกครองที่โหดร้ายของราชวงศ์สุย ซึ่งนำมาสู่การล่มสลายของราชวงศ์ พระองค์จึงนำเหตุการณ์นี้มาเป็นบทเรียนและทรงปกครองประเทศด้วยความเป็นธรรม พระองค์ทรงบริหารประเทศแบบเปิดกว้างและเน้นผลประโยชน์ส่วนรวม ดังนั้นจึงทำให้ราชบัลลังค์ของพระองค์มั่นคงและยืนนาน นอกจากนี้ ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมก็ยังได้รับการพัฒนาจนกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง ในรัชสมัยนี้จึงปรากฏสภาพสังคมที่ร่มเย็นเป็นสุข นักประวัติศาสตร์จึงเรียกยุคนี้ว่า "ยุคเจินกวาน 贞观之治(ยุคเห็นความร่มเย็นเป็นสุข)"
ในรัชสมัยของพระเจ้าถังไท่จงเกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มากมาย อาทิเช่น การรวมจังหวัดและอำเภอ การลดรายจ่ายของประเทศ ให้ประชาชนมีที่ดินเป็นของตนเอง การลดแรงงานลง และให้ประชาชนมีช่วงเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่แน่นอน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนรักและศรัทธาในตัวพระองค์ พระองค์ทรงยึดคติโบราณที่ว่า "พระมหากษัตริย์เปรียบเสมือนเรือ ประชาชนเปรียบเสมือนกระแสน้ำ กระแสน้ำสามารถทำให้เรือแล่นได้ ก็สามารถทำให้เรือล่มได้เช่นกัน"
ในด้านแนวคิดการศึกษา ถังไท่จงให้ความสำคัญต่อการรวบรวมและจัดเก็บตำรับตำราความรู้วิทยาการและประวัติศาสตร์เป็นหมวดหมู่ ทั้งยังเปิดกว้างในการนับถือและเผยแพร่แนวคิดในลัทธิศาสนาต่างๆ เช่น พุทธศาสนา เต๋า หยู(ลัทธิขงจื้อ) รวมทั้งศาสนาบูชาไฟของเปอร์เซีย ศาสนาแมนนี และคริสตศาสนา
หลวงจีนเซวียนจั้ง玄奘หรือพระถังซำจั๋ง三藏
เหตุการณ์ที่มีความสำคัญต่อการเผยแพร่พุทธศาสนา ได้แก่ หลวงจีนเซวียนจั้ง玄奘หรือพระถังซำจั๋ง三藏 ได้เดินทางไปยังประเทศอินเดียอันไกลโพ้น เพื่ออัญเชิญพระไตรปิฎกกลับมา แปลเป็นภาษาจีนและเผยแพร่ออกไป ทำให้พุทธศาสนาในสมัยราชวงศ์ถังเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ ถังไท่จงยังส่งเสริมและให้ความสำคัญกับการจัดแบบแผนการศึกษา มีการสร้างสถานศึกษาสำหรับบรรดาลูกหลานผู้นำ เรียกว่า สำนักศึกษาหงเหวินก่วน 弘文馆 เปิดสอนศาสตร์สาขาต่างๆในการเป็นผู้นำ อาทิ การบริหารการปกครอง กฎหมาย วรรณคดี อักษรศาสตร์ การคำนวณ ฯลฯ เพื่ออบรมบ่มเพาะบรรดาลูกหลานที่เป็นทายาทเชื้อพระวงศ์ ขุนนาง และชนชั้นสูง ทั้งยังจัดตั้งสำนักศึกษาในศาสตร์สาขาต่างๆทั่วราชอาณาจักร บรรดาเจ้าผู้ครองแคว้นรอบนอกจึงนิยมส่งบุตรหลานของตนเข้ามาศึกษายังนครฉางอัน ทำให้ในเวลานั้นจีนกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิทยาการต่างๆในแถบภูมิภาคนี้

องค์หญิงเหวินเฉิง文成
ในรัชสมัยนี้ ได้มีการปฏิรูปโครงสร้างการปกครอง ที่เน้นการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง พระเจ้าถังไท่จงทรงใช้การบริหารที่เปิดกว้างสู่ทุกชนชาติ ทรงสามารถรวมชนชาติต่าง ๆ ไว้ได้ ชนเผ่าทางภาคเหนือมีการขนานนามพระองค์ว่า "เทียนเค่อหัน 天可汗"(พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่) นอกจากนี้ พระองค์ยังได้เชื่อมสัมพันธไมตรีกับชนเผ่าถู่โป 吐蕃(ทิเบต) โดยการยกองค์หญิงเหวินเฉิง 文成 ให้อภิเษกสมรสกับกษัตริย์ถู่โป ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างชนชาติจีนและถู่โปแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งนับเป็นการเสียสละเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับประเทศชาติ
อ้างอิงจาก
· หนังสือ “ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ประเทศจีน (中国历史常识)”The Overseas Chinese Affairs Office of the State Council / The Office of Chinese Language Council International.สำนักพิมพ์สุขภาพใจ
- http://www.manager.co.th/China/viewnews.aspx?NewsID=9480000008520&TabID=2&Page=ALL
- http://cathay.ce.cn/person/200808/19/t20080819_16538425.shtml