วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 www.jiewfudao.com

เฉาเชา(曹操)
เฉาเชา(曹操) ที่คนไทยทั่วไปรู้จักกันในนามโจโฉ เป็นตัวละครในวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก ที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ยุคสามก๊ก
เฉาเชาเป็นนักการเมืองการปกครอง(政治家) นักการทหาร(军事家)และนักวรรณคดี(文学家)ที่ดีเด่นในปลายสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก(东汉未年)
เฉาเชา (ปีค.ศ.155-220) สมญานามเมิ่งเต๋อ(孟德) เป็นคนมณฑลอันฮุย(安徽)โดยกำเนิด ปลายสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เฉาเชาได้จัดตั้งกองทัพที่มีกำลังแข็งแกร่งกองหนึ่งในระหว่างกระบวนการปราบปรามการก่อกบฏของชาวนา(农民起义)
ในฐานะที่เป็นนักการทหาร เขาชอบศึกษาหนังสือวิชาการทหาร และคิดว่าการศึกสงครามต้องใช้วิธีศึกประยุกต์เปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ ในสงครามกวันตู้(官渡) เฉาเชาได้วิเคราะห์สถานการณ์ของทั้งสองฝ่าย และใช้กองทัพเพียง 2 หมื่นคนชนะแม่ทัพหยวนเส้าที่มีกำลังทหาร 1 แสนคนได้ จึงได้ขยายกำลังกองทหารของตน เฉาเชายังได้ดำเนินนโยบายที่ให้ทหารทำไร่ไถนาในยามไม่ทำสงคราม เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเสบียงทหาร ทั้งยังได้ฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจในสังคมภาคเหนือของจีนด้วยวิธีดังกล่าวด้วย
ในด้านการเมือง เฉาเชาได้สังเกตว่า การพัฒนาของผู้ครองที่ดินที่เรืองอำนาจเป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะแตกแยกในปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ฉะนั้น เขาจึงให้ความสำคัญแก่การควบคุมอำนาจของผู้ครองที่ดินที่เรืองอำนาจ เขาเคยวางท่อนไม้ขนาดใหญ่หน้าประตูสำนักงาน โดยใช้ในการลงโทษผู้มีอำนาจที่ข่มเหงผู้อ่อนแอ ทั้งยังได้แต่งตั้งคนที่กล้าต่อสู้กับผู้เรืองอำนาจให้เป็นขุนนาง การกระทำเหล่านี้ได้เป็นประโยชน์ต่อการปกครองประเทศให้มั่นคงยิ่งขึ้น
ในด้านการแต่งตั้งบุคลากร เฉาเชาดำเนินนโยบายที่ใช้บุคลากรตามความรู้ความสามารถ ไม่ว่าฐานะสูงต่ำ ขอเพียงแค่มีความรู้ความสามารถ ก็แต่งตั้งให้เป็นขุนนางจึงมีบุคคลที่มีความรู้ความสามารถได้รับตำแหน่งสำคัญมากมาย บุคคลเหล่านี้ได้ช่วยเฉาเชารวมภาคเหนือของจีนเข้าไว้ด้วยกัน

พระเจ้าฮั่นเซี่ยนตี้(汉献帝)
ด้วยจุดได้เปรียบเหล่านี้ พร้อมทั้งที่เขาได้ควบคุมพระเจ้าฮั่นเซี่ยนตี้(汉献帝)อยู่ในมือของตน ฉะนั้น หลังจากสงครามกวันตู้เมื่อปี ค.ศ.200 เฉาเชาได้ปราบอำนาจขุนศึกต่าง ๆ ในภาคเหนือไปตามลำดับ สถานการณ์การแตกแยกของภาคเหนือจึงได้สิ้นสุดลง ซึ่งไม่เพียงแต่ได้เป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาคกลาง อีกทั้งได้สร้างพื้นฐานในการรวมจีนให้เป็นหนึ่งของราชวงศ์จิ้นตะวันตก(西晋)อีกด้วย

สวี่เส้า(许劭)
สวี่เส้า(许劭) บัณฑิตที่มีชื่อในสมัยนั้นคนหนึ่ง เคยวิจารณ์เฉาเชาว่า เป็นอำมาตย์ผู้มีความสามารถในการบริหารประเทศในยามสงบและเป็นวีรบุรุษร้ายกาจในยามสงคราม ในงิ้วจีน เฉาเชามักจะปรากฏด้วยภาพลักษณ์ที่เป็นกังฉิน(ขุนนางผู้ร้าย) เฉาเชาเคยกล่าวว่า “ท่ามกลางสมัยอันยุ่งยากนี้ ต่อให้ไม่มีข้าพเจ้า ก็มีคนอื่นมากมายอยากเป็นกษัตริย์”
เฉาเชายังให้ความสำคัญแก่วัฒนธรรมอีกด้วย เขาเองเป็นกวีด้วย เคยแต่งกวีนิพนธ์จำนวนไม่น้อย เช่นกลอนเรื่อง เฮาหลี่สิง(蒿里行) กวนชางไห่(观沧海) ต่วนเกอสิง(短歌行) กวยซุยโซ่ว(龟虽寿) ฯลฯ บุตรชายของเขาสองคนนามเฉาพี(曹丕) เฉาจื๋อ(曹植) ก็เป็นนักวรรณคดีที่มีชื่อเสียงเช่นกัน

เฉาพี(曹丕) เฉาจื๋อ(曹植)

ฮว่าถัว(华佗)
ในบั้นปลายชีวิตเฉาเชาป่วยเป็นโรคประสาท มักปวดหัวเป็นประจำ ต่อมาฮว่าถัว(华佗) ได้ทำการรักษาอาการของเฉาเชาด้วยการเสนอให้ผ่าศีรษะ เฉาเชากลับคิดว่าฮว่าถัวจะฆ่าตนจึงสั่งประหาร และเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 66 ปี ภายหลังจากเฉาเชาเสียชีวิต เฉาพีบุตรชายคนรองได้ถอดพระเจ้าฮั่นเซี่ยนตี้ออกจากตำแหน่งและสถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าเฉาพีแห่งเว่ย (魏) รวมทั้งยกย่องเฉาเชาขึ้นเป็นจักรพรรดิองค์แรงแห่งราชวงศ์เว่ย
อ้างอิงจาก
· หนังสือ “ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับ ประวัติศาสตร์ประเทศจีน (中国历史常识)” – The Overseas Chinese Affairs Office of the State Council / The Office of Chinese Language Council International. – สำนักพิมพ์สุขภาพใจ
· http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%82%E0%B8%88%E0%B9%82%E0%B8%89
· http://www.china.com.cn/v/videochina/2009-12/31/content_19161603.htm
· http://pl.cqnews.net/cj/201006/t20100616_4399614.htm
· http://www.hudong.com/wiki/%E6%B1%89%E7%8C%AE%E5%B8%9D
· http://hanyu.iciba.com/wiki/22340.shtml
· http://www.hudong.com/wiki/%E8%AE%B8%E5%8A%AD
· http://www.e3ol.com/portrait/pic/sg11_2/62.jpg
· http://www.eeloves.com/modules/m/?id=caozhi
· http://www.jkrj.cn/zhongyi/mingyi/200507/22001.shtml