เครื่องหมายมหัพภาค (จุดจบประโยค) มีรูปสัญลักษณ์ (。) ใช้เพื่อแสดงให้รู้ว่า ประโยคนั้นจบแล้ว มักใช้กับประโยคบอกเล่าและประโยคคำสั่งที่น้ำเสียงค่อนข้างนุ่มนวล เช่น
我是泰国人。ฉันเป็นคนไทย
你过来吧。 คุณมานี่สิ
ตัวอย่างข้างต้นเป็นเอกรรถประโยคที่เข้าใจง่าย แต่ในภาษาเขียน จะต้องรู้ว่าตรงไหนควรหรือไม่ควรใช้เครื่องหมายมหัพภาค จึงไม่ควรใช้เครื่องหมายมหัพภาคแบบเดาส่ง ข้อสำคัญคือต้องดูว่า ความหมายในประโยคนั้นจบลงโดยสมบูรณ์ครบถ้วนหรือไม่ การใช้เครื่องหมายมหัพภาคในประโยคที่ควรใช้ จะช่วยให้เข้าใจความหมายในประโยคได้กระจ่างชัดขึ้น ความเรียงต่อไปนี้คือตัวอย่างการใช้เครื่องหมายมหัพภาคได้อย่างเหมาะสม
我们满满地走进公园。一进门就看见浓艳的热带花卉,和碧绿的热带树木。公园很大,而且布置得很好,有河,有桥,有亭,有石,有花,有草,有禽,有兽,还有其他的。
พวกเราเดินทอดน่องเข้าไปในสวนสาธารณะ พอเข้าประตูก็เห็นไม้ดอกแสนสวยและต้นไม้เขียวชอุ่มของเขตร้อน สวนกว้างมาก และจัดแต่งได้ดีเยี่ยม มีลำธาร ศาลา ก้อนหิน ดอกไม้ หญ้า สัตว์ปีก สัตว์สี่เท้า และอื่น ๆ
ขอให้สังเกตดูว่า ข้อความข้างต้นนี้ตรงไหนบ้างที่ใช้เครื่องหมายมหัพภาค ทำไมจึงใช้ และถ้าไม่ใช้แล้ว จะให้ผลลัพธ์ต่างกันอย่างไร
ในการเขียนความเรียง การไม่กล้าใช้เครื่องหมายมหัพภาคหรือใช้พร่ำเพรื่อเกินไป อาจส่งผลต่อการสื่อความหมายของภาษาได้
บางคนไม่ค่อยกล้าใช้เครื่องหมายมหัพภาค เพราะรู้สึกว่า ความหมายในประโยคนั้น ร้อยเรียงต่อกันไปตลอด ไม่น่าจะใช้เครื่องหมายนี้มาคั่นให้เสียความ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดอย่างยิ่ง แม้ว่าความหมายแต่ละประโยคในความเรียงแต่ละบท จะร้อยเรียงต่อกันจริง แต่ถ้าเราอ้างเหตุผลนี้ เพื่อที่จะไม่ใช้เครื่องหมายมหัพภาค ก็คงไม่ถูกต้องนัก เพราะจะทำให้สับสนในการสื่อความหมาย เราอาจใช้เครื่องหมายมหัพภาคตรงส่วนที่ได้หนึ่งใจความ หรือส่วนต่อที่ค่อนข้างหลวม การทำอย่างนี้จะไม่ทำให้ใจความขาดตอนไปแน่นอน
อีกกรณีคือ ใช้เครื่องหมายมหัพภาคพร่ำเพรื่อ ซึ่งจะทำให้ใจความถูกแบ่งออกเป็นท่อน ๆ จนยากที่จะสื่อความหมายให้ครบถ้วนสมบูรณ์ได้ จะใช้หรือไม่ใช้เครื่องหมายมหัพภาค จึงไม่ได้ดูกันที่ความยาวของประโยค เพราะบางประโยคอาจยาวมาก เพื่อสื่อความหมายที่ค่อนข้างซับซ้อน ซึ่งเราไม่ควรใช้เครื่องหมายมหัพภาคแบ่งคั่น ตัวอย่างเช่น
那象真是一个庞然的蠢东西。皮色是灰色,走起路来有些不方便。我们抛了两个铜子进去,它听见声音,便慢慢儿地走了过来,用它的长鼻子放在地上东闻西嗅,找到了铜子,便卷起来放在口里这衔着,又来找第二个。
ช้างเป็นสัตว์ตัวใหญ่มาก ผิวหนังสีเทา เดินไม่คล่องแคล่วนัก เราโยนเหรียญสตางค์สองอันเข้าไป มันได้ยินเสียงก็ค่อย ๆ เดินเข้ามา ใช้งวงยาวมาดมไปตามพื้น หาจนพบจึงใช้งวงหยิบเหรียญใส่ปาก แล้วหาเหรียญที่สองต่อไป
ความเรียงข้างต้น มีประโยคอยู่ด้วยกัน 3 ประโยค ประโยคที่ 1 และ 2 สั้นมาก ส่วนประโยคหลังยาวมาก
อ้างอิงจาก หนังสือ “หลักไวยากรณ์จีน ฉบับศึกษาด้วยตนเอง”-อดุลย์ รัตนมั่นเกษม