ในภาษาจีนใช้เครื่องหมายไข่ปลาหรือจุดประ (······) เพื่อละข้อความที่ไม่ต้องการเขียนถึง ทำหน้าที่คล้ายเครื่องหมายไปยาลน้อย (ฯ) และไปยาลใหญ่(ฯลฯ) ในภาษาไทย เครื่องหมายนี้มีจุดไข่ปลา 6 จุด ประมาณสองตัวอักษรจีน และขีดอยู่ในแนวกึ่งกลางตัวอักษรพอดี
ในกรณีที่ต้องการอ้างอิงข้อความบางส่วนจากข้อความที่ยาวมาก ๆ จะใช้เครื่องหมายนี้ละข้อความส่วนที่เหลือไว้ และถ้าข้อความที่ละนั้นยาวเกินกว่าหนึ่งย่อหน้า ให้ใช้จุดประทั้งสิ้น 12 จุด และต้องขึ้นบรรทัดใหม่ด้วย
เครื่องหมายนี้ยังใช้แสดงการขาดช่วงของคำพูด เพื่อแสดงให้รู้ว่ายังมีความหมายต่อไปอีก หรือแสดงถึงอาการนิ่งเงียบของอีกฝ่าย และจะใช้กรณีนี้ได้ก็ต่อเมื่อเนื้อความเป็นบริบทที่เกี่ยวข้องด้วยเท่านั้น ซึ่งจะขอละไว้เพียงเท่านี้ไม่ยกตัวอย่างประกอบ ส่วนวิธีใช้ที่นิยมกันมาก เช่น
动物园里有大象,狮子,老虎,猴子······ ,动物多得数不清。
ในสวนสัตว์มีช้าง สิงโต เสือ ลิง ฯลฯ มีสัตว์มากมายจนนับไม่ถ้วน
公园里的鲜花开遍了,红的,紫的,黄的······,看得眼睛也花了。
ดอกไม้บานทั่วสวนแล้ว มีสีแดง สีม่วง สีเหลือง ฯลฯ ดูละลานตาไปหมด
การใช้เครื่องหมายนี้มีข้อพึงระวังอยู่ 2 ข้อคือ
1. ต้องใช้ละข้อความอย่างเหมาะสม ไม่ใช้พร่ำเพรื่อและเมื่อละข้อความนั้น ๆ แล้ว จะไม่ทำให้ใจความเสียไป
2. ต้องรู้ให้แน่ชัดว่าจะต้องใช้เครื่องหมายอื่น เช่น จุดมหัพภาค จุดจุลภาค ฯลฯ ทั้งก่อนและหลังการใช้เครื่องหมายจุดประนี้หรือไม่ โดยทั่วไปคือ ถ้าประโยคที่อยู่หน้าเครื่องหมายจุดประเป็นประโยคสมบูรณ์ ก็ยังคงต้องใช้เครื่องหมายมหัพภาค แต่ถ้าไม่ใช่ประโยคสมบูรณ์ ก็จะไม่ใช้เครื่องหมายใด ๆ แม้ว่าประโยคนั้น ๆ อาจใช้เครื่องหมายจุลภาคได้ แต่ก็จะไม่ใช้ ดังตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นนี้ทั้งสองตัวอย่าง ส่วนหลังเครื่องหมายจุดประ จะใช้เครื่องหมายมหัพภาคจุลภาคหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับเนื้อหาของข้อความนั้น
อ้างอิงจาก หนังสือ “หลักไวยากรณ์จีน ฉบับศึกษาด้วยตนเอง”-อดุลย์ รัตนมั่นเกษม