วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553 www.jiewfudao.com
ตะเกียบหรือไคว่จื่อ (筷子) เป็นสิ่งประดิษฐ์จากไม้ไผ่ และเป็นเครื่องมือสำหรับรับประทานอาหารของชาวจีน ที่มีประวัติศาสตร์สืบย้อนหลังไปมากกว่าสี่พันปี ตะเกียบจึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์อันยิ่งใหญ่แห่งภูมิปัญญาบรรพบุรุษ เพราะความมหัศจรรย์เพียงแค่ไม้ไผ่เล็ก ๆ 2 อัน กลับกลายมาเป็นสิ่งบ่งชี้ทางวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่และผูกพันเข้ากับวิถีชีวิตของชาวจีนอย่างแนบแน่น จนไม่อาจแยกออกจากกันได้ และยังผูกพันไปถึงวัฒนธรรมอื่น ๆ ของจีนอีกมากมาย
ต้าอวี่ (大禹) ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์เซี่ย หานเฟยจื่อ (韩非子)
แต่เดิมนั้น บรรพชนในอดีตของจีน ล้วนยังต้องใช้มือในการหยิบจับรับประทานอาหาร ต่อมาจึงได้มีการประดิษฐ์คิดค้นตะเกียบขึ้นมาใช้ภายหลัง แต่ธรรมเนียมการใช้ตะเกียบที่เกิดจากไม้ไผ่เล็ก ๆ เพียง 2 อัน เริ่มขึ้นมาเมื่อไหร่นั้น ไม่มีหลักฐานใด ๆ บ่งชี้ชัดได้ คงมีแต่เพียงนิทานโบราณที่เล่าต่อ ๆ กันมาว่า ต้าอวี่ (大禹) ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์เซี่ย เป็นบุคคลแรกที่รู้จักการใช้ตะเกียบคีบจับอาหาร เล่ากันว่าภายหลังจากต้าอวี่สามารถพิชิตอุทกภัยน้ำท่วมได้เป็นผลสำเร็จก็ได้หาทางแก้ปัญหาให้พสกนิกรหันมารับประทานอาหารสุกแทนอาหารดิบ แต่ทว่า อาหารที่สุกมักมีความร้อน บางอย่างก็ต้มด้วยน้ำเดือด ๆ จึงไม่สามารถใช้มือหยิบฉวยได้ ต้าอวี่จึงได้หักเอากิ่งไม้ไผ่เล็กสองอันมาใช้คีบจับอาหารในน้ำเดือดหรืออาหารร้อน ๆ และกลายมาเป็นต้นแบบของการใช้ตะเกียบในที่สุด
ซือหม่าเชียน(司马迁) กษัตริย์โจ้วหวาง (纣王)
แต่หลักฐานที่สำคัญที่ไม่ใช่เป็นเพียงตำนานนั้น มีการกล่าวไว้ใน “บันทึกหานเฟยจื่อ”(韩非子) และ “บันทึกประวัติศาสตร์สื่อจี้” (史记) เขียนโดย ซือหม่าเชียน(司马迁) บันทึกทั้งสองเล่มนี้กล่าวถึงกษัตริย์โจ้วหวาง (纣王)ทรราชองค์สุดท้ายในสมัยราชวงศ์ซาง กล่าวถึงความฟุ่มเฟือยภายในราชสำนักที่มัวเมาแต่สุรานารี ในการเสวยพระกระยาหารก็มีแต่ความฟุ่มเฟือย มีการระบุถึงภาชนะทานอาหารและดื่มกินหลายอย่าง หนึ่งในนั้นก็คือ ตะเกียบงาช้าง หรือ เซี่ยงจู้ (象箸)
ใน “คัมภีร์หลี่จี้”(礼记) ก็ได้กล่าวถึงเครื่องใช้ในการรับประทานที่เรียกกันว่า เจีย (棶) ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ทำมาจากไม้เพราะมีหมวดตัวไม้อยู่ (木)อยู่ด้านข้างตัวอักษร และก่อนสมัยราชวงศ์ฉิน ได้มีการเรียกตะเกียบไม้ไผ่ที่ใช้รับประทานอาหารว่า เจี๋ย (荚) อย่างไรก็ตาม ในบันทึกโบราณต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังเป็นต้นมา ต่างเรียกไม้ไผ่ 2 อันที่มีลักษณะแบบตะเกียบว่า จู้ (箸) ซึ่งใช้คำคำนี้เรียกตะเกียบมานานหลายร้อยปี ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง ซ่ง หยวน และหมิง
สมัยราชวงศ์หมิง “บันทึกของลู่หรง”(陆容) กล่าวถึงธรรมเนียมนิยมของชาวเรือว่า ในการเดินทางหาปลาของชาวประมงและการโดยสารเรือบนลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง จะถือกันว่า อย่าเอ่ยคำว่า “จู้” เป็นคำต้องห้ามและเป็นลางร้าย ชาวเรือถือว่า “จู้” เป็นคำเรียกที่เป็นอัปมงคลหลายอย่าง เช่น “จู้” (蛀) หมายถึง ตัวมอด ที่เป็นแมลงกัดกินเนื้อไม้เป็นอาหาร ตัวมอดจะทำให้เรือเกิดรูรั่วจนน้ำเข้าเรือ ชาวเรือจึงเกลียดตัวมอดมากเป็นพิเศษ รวมทั้งคำว่า “จู้”ก็ยังพ้องเสียงกับ จู้(住) ที่แปลว่า หยุด เพราะสำหรับชาวเรือแล้ว การหยุดก็คือการไม่สามารถล่องเรือออกทะเลหรือแม่น้ำลำคลอง ทำให้ปากท้องไม่มีรายได้ ชีวิตบนเรือจะต้องพบกับความยากลำบาก ดังนั้น คำอัปมงคลเหล่านี้ทำให้ชาวเรือไม่ยอมพูดกัน พวกเค้าจึงพูดเปลี่ยนชื่อเรียกตะเกียบจาก “จู้” มาเป็น “ไคว่” (快) ซึ่งแปลว่า รวดเร็ว เร็วไว เพราะสำหรับชาวเรือแล้วยิ่งเร็วยิ่งดี
จักรพรรดิคังซี(康熙皇帝) พจนานุกรม ฉบับคังซี (康熙字典)
กรณีดังกล่าว มีกล่าวไว้ว่า จักรพรรดิคังซี(康熙皇帝) แห่งราชวงศ์ชิง ทรงไม่ยอมรับการเปลี่ยนคำเรียกหาตะเกียบมาใช้เป็นตัวอักษรว่าไคว่ เพราะจะทำให้ไม่สามารถรู้ถึงรากศัพท์ของตัวอักษรได้ เมื่อมีการรวบรวม “พจนานุกรม ฉบับคังซี” (康熙字典) พระองค์จึงให้เติมขีดความหมายของไม้ไผ่ (竹) ลงไว้บนตัวอักษร ไคว่ จนกลายมาเป็นคำว่าไคว่ (筷) หรือไคว่จื่อ (筷子) ซึ่งก็คือตะเกียบในปัจจุบัน
พื้นฐานของตะเกียบนั้นมาจากไม้ไผ่ แม้ว่าจะมีการประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ มาใช้กับการทำตะเกียบ เช่นตะเกียบงาช้าง ตะเกียบหยก และตะเกียบทองคำ ที่กลายมาเป็นเครื่องใช้บอกฐานะของเจ้าของตะเกียบ รวมทั้งในวังหลวงยังมีการสร้างตะเกียบเงิน ซึ่งใช้ในการตรวจสอบพิษ ก่อนที่จะส่งให้ฮ่องเต้เสวยพระกระยาหารได้ แต่ไม่ว่าวัสดุที่สร้างจะแตกต่างกันสักเพียงใด หน้าที่ของตะเกียบยังคงเดิม นั้นก็คือ การเป็นเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร สำหรับคีบจับอาหาร
นอกจากนี้ ยังมีเคล็ดลับเกี่ยวกับ “ตะเกียบ” หรือ “ไคว่จื่อ” อยู่บ้างบางประการ เช่น ในพิธีแต่งงาน เจ้าสาวจะนิยมพกนำตะเกียบติดตัวไปด้วย เพราะคำว่า “ไคว่” (快) แปลว่า เร็ว ๆ ไว ๆ ส่วนคำว่า “จื่อ”(子) แปลว่า ลูกชาย ดังนั้น การที่เจ้าสาวพกตะเกียบติดตัวก็คือ เคล็ด ความหมายว่า “ขอให้มีลูกชายเร็ว ๆ ไว ๆ” นั้นเอง
อ้างอิงจาก :
- หนังสือ 108 ลัญลักษณ์จีน – ปิยะแสง จันทรวงศไพศาล
- http://xx41.dfedu.com/xueshengtiandi/41xuexiao/cszpj/wangyi/fengyunrw/shimaqian.htm
- http://www.qhwhyj.cn/wy-2/e/e20.htm
- http://space.tv.cctv.com/act/article.jsp?articleId=ARTI1229414241833746
- http://www.taocang.com/merchant/full_photo.asp?lid=&info_id=9289
- http://www.shuobao.com/web/Product/37963.html
- http://www.nipic.com/show/1/17/5c259055b4142783.html
- http://xk.cn.yahoo.com/articles/071217/1/6tjk.html
- http://www.laocanmou.net/sxj/zssxj/zg/hfz/hfzz/fjxq/200704/sxj_20070413155512.html