爆竹 (竹报平安)
“ประทัด” ภาษาจีนเรียกว่า “เป้าจู๋” (爆竹) เป็นคำที่เริ่มใช้ตั้งแต่หลังราชวงศ์ถังเป็นต้นมา คำว่า “เป้า” (爆)นั้นหมายถึง “แตกออก, ระเบิดออก” ส่วน “จู๋” (竹) แปลว่า “ไม้ไผ่” แสดงว่า รากศัพท์กำเนิดคำว่าประทัดมาจากการนำไม้ไผ่โยนเข้ากองไฟ แล้วมันจะแตกระเบิดเสียงดังออกมา ก่อนที่ภายหลังจะได้มีการพัฒนาประทัดให้มีขนาดเล็กลงดังเช่นทุกวันนี้
การที่ประทัดกลายมาเป็นสัญลักษณ์มงคล กล่าวกันว่ามาจากตำนานเรื่องวันขึ้นปีใหม่ (ตรุษจีน) มีสัตว์ประหลาดรูปร่างคล้ายสิงโตคือ “เหนียน” (年) ออกมากัดกินชาวบ้าน ภายหลังมีเซียนผู้วิเศษมาช่วยขับไล่เหนียนออกไปจากหมู่บ้านได้ ทำให้ชาวบ้านรู้ว่าเจ้าเหนียนนั้นกลัวสีแดงและไม่ชอบเสียงดัง ๆ ดังนั้น เมื่อถึงวันตรุษปีใหม่ ชาวบ้านจึงพากันไปเฉลิมฉลองด้วยการรำลึกชัยชนะที่สามารถขับไล่เหนียนออกไปได้ ในวันนั้นจึงได้มีการนำปล้องไม้ไผ่มาโยนลงไปในกองไฟให้เกิดการแตกปะทุเสียงดัง ต่อมาจึงค่อย ๆ พัฒนาจนกลายมาเป็นประทัด และการที่ประทัดมีสีแดงก็เพราะมาจากสีแดงเป็นสีมงคลของชาวจีน และยังเป็นสีที่เหนียนเกรงกลัว ดังนั้น ด้วยเหตุนี้เมื่อมีการสร้างประทัด จึงต้องใช้สีแดงมาจนถึงปัจจุบัน
อีกตำนานหนึ่งเล่าว่า ในสมัยก่อนมีซานกุ่ย หรือผีภูเขา (山鬼) ออกอาละวาดแย่งชิงไฟไปจากชาวบ้านในช่วงฤดูหนาว ชาวบ้านจึงคิดค้นวิธีการขับไล่ผีภูเขาด้วยการเผาปล้องไม้ไผ่ในกองไฟ จนทำให้เกิดเสียงดัง ทำให้ผีภูเขาเกิดความเกรงกลัวและไม่กล้ามายุ่งเกี่ยวกับชาวบ้านอีก ดังนั้น เมื่อลมหนาวพ้นผ่านไป ลมใบไม้ผลิมาเยือน จึงได้ริเริ่มคิดการสร้างประทัดจากลำไม้ไผ่เพื่อจุดให้เกิดเสียงดัง และเป็นการเฉลิมฉลองวันตรุษขึ้นปีใหม่อย่างครื้นเครง
ภาพ “ประทัดสุขสันติ” หรือ “จู๋เป้าผิงอัน” (竹报平安หรือ 竹爆平安)
ประทัดจึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์มงคลประจำวันตรุษจีน เพื่อบ่งบอกว่าฤดูใบไม้ผลิอันแสนอบอุ่นได้มาถึงแล้ว อีกทั้งยังเป็นเครื่องหมายบอกถึงการเฉลิมฉลองเนื่องในเทศกาลแห่งความสุขความมงคล ดังเช่นที่มีการวาดภาพสื่อความหมายดังกล่าวคือ ภาพ “ประทัดสุขสันติ” หรือ “จู๋เป้าผิงอัน” (竹报平安หรือ 竹爆平安) ที่นิยมวาดเป็นรูปเด็กผู้ชายกลุ่มหนึ่งกำลังจุดประทัดอย่างสนุกสนานอันเป็นความหมายว่าความสุขแห่งวันปีใหม่ได้มาถึงแล้ว หรือมีบ้างที่วาดเป็นรูปต้นไผ่ โดยตีความหมายภาพเป็น “ต้นไผ่บอกถึงสันติมาเยือน” ก็มี
อ้างอิงจาก : หนังสือ 108 ลัญลักษณ์จีน – ปิยะแสง จันทรวงศไพศาล