พัด扇子

“พัด” (扇子) จัดเป็นสิ่งสิริมงคลที่เป็นส่วนหนึ่งของภูมิปัญญาตะวันออกและเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมจีนที่มีมาอย่างช้านานกว่า 4000 ปี บ้างเรียกสิ่งเหล่านี้คือ “วัฒนธรรมต้นไผ่” อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของจีนและเป็นประดิษฐกรรมชนิดหนึ่งที่สร้างขึ้นจากต้นไผ่ รวมทั้งยังมีส่วนสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาอีกด้วย
เหตที่พัดนับเป็นสัญลักษณ์มงคลนั้น เนื่องมาจากคำว่าพัดในภาษาจีนออกเสียงเรียกว่า “ซ่าน” (扇) หรือ “ซ่านจื่อ” (扇子) ซึ่งสำเนียงเรียกดังกล่าวไปพ้องเสียงกับ “ซ่าน” (善)ที่แปลว่า ความดีงาม นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ “พัด”(ซ่าน) ได้รับการยกย่องให้เป็นเสมือนของวิเศษอันเป็นมงคลนาม
นอกจากการนำพัดมาใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว ชาวจีนยังนำพัดมาใช้แขวนประดับแทนภาพวาดบนผนังด้วยเช่นกัน รวมทั้งยังนิยมวาดภาพจิตรกรรมจีนประเพณีลงบนพัดอีกด้วย
วัตถุที่นิยมนำมาสร้างเป็นพัดนั้น ส่วนใหญ่แล้วได้แก่ ไผ่, กระดาษ, ผ้าไหม, ขนนก, งาช้าง, หยก, ใบกล้วย เป็นต้น
รูปแบบของพัดจีนนั้น มีการสร้างไว้สองรูปแบบใหญ่ ๆ แบบที่หนึ่งนั้น คือ พัดใบเดี่ยว หรือ “ผิงซ่าน” (平扇) อาทิ พัดใบกลม หรือถวนซ่าน (团扇), พัดทานตะวันหรือขุยซ่าน (葵扇) ,พัดใบกล้วย หรือ ปาเจียวซ่าน (芭蕉扇)

ถวนซ่าน (团扇) พัดทานตะวันหรือขุยซ่าน (葵扇) พัดใบกล้วย หรือ ปาเจียวซ่าน (芭蕉扇)
แบบที่สองนั้นคือ พัดคลี่พับได้ หรือ “เจ๋อซ่าน” (折扇) บางครั้งเรียกว่า จั้งซ่าน(障扇)และ จ่างซ่าน (掌扇) เป็นรูปแบบพัดที่ใบทำเป็นแผ่น ๆ แล้วนำมาร้อยเชื่อมติดกัน ในสมัยโบราณนั้น ซีกใบพัดสร้างขึ้นจากซีกไม้ไผ่ ภายหลังมีการนำขนนกหรือขนนกยูงมาใช้ รวมทั้งยังนำงาช้าง, หยก, ผ้าไหม และท้ายสุดคือกระดาษมาประดิษฐ์จนเป็นพัด พัดลักษณะดังกล่าวนี้จะสามารถพับเก็บไปไหนต่อไหนได้ส่วนก้านพัดนั้นจะนิยมใช้เป็นซี่ ๆ จำนวน 7, 9, 12, 14, 16, 18, 24 และ 30 ซี่

พัดคลี่พับได้ หรือ “เจ๋อซ่าน” (折扇)บางครั้งเรียกว่า จั้งซ่าน(障扇)และ จ่างซ่าน (掌扇)
หากนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน พัดไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันแต่ยังถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลายประการ ทั้งทางนาฏศิลป์การร่ายรำระบำพัดและในงานศิลปกรรมหลายแขนง จิตรกรรมล้ำค่าของจีนจำนวนไม่น้อยที่นิยมวาดลงบนพัด โดยเฉพาะในช่วงราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงเป็นยุคเฟื่องฟูที่สุดของการวาดบนใบพัด ดังนั้น จากวัฒนธรรมต้นไผ่กลายมาเป็นจิตรกรรมขั้นสูงบนใบพัด ที่ไม่เพียงแต่ทรงคุณค่าในเชิงศิลปะเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้เป็นของขวัญอันเป็นมงคลในวาระโอกาสพิเศษต่าง ๆ มอบให้แก่กันและกันเนื่องในเทศกาลอันเป็นมงคลได้ทุกเวลา
อ้างอิงจาก : หนังสือ 108 ลัญลักษณ์จีน – ปิยะแสง จันทรวงศไพศาล