วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 www.jiewfudao.com
คำว่า “สิ่งล้ำค่าทั้งสี่ในห้องหนังสือ” หรือ เหวินฝางซื่อเป่า (文房四宝) หมายถึง สิ่งสำคัญสี่อย่างที่เป็นอุปกรณ์สำคัญในห้องหนังสือ เป็นภาษาโบราณที่มีเรียกกันมานานตั้งแต่สมัยหนานเป่ยเฉา หรือราว ๆ 1600 ปีล่วงมาแล้ว นอกจากนี้ ในสมัยราชวงศ์เป่ยซ่ง (ซ่งเหนือ) ยังมีคำหนึ่งที่เรียกว่า เหวินฝางซื่อผู่(文房四谱) หมายถึง เคล็ดคู่มือทั้งสี่ในห้องหนังสือ แต่คำ ๆ นี้ไม่ค่อยมีผู้นิยมมากนัก จึงมักไม่ได้ยินในปัจจุบัน
“เหวินฝางซื่อเป่า”(สิ่งล้ำค่าทั้งสี่ในห้องหนังสือ) เป็นปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับห้องหนังสือทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นการเขียนอักษร แต่งกลอน หรือวาดภาพ ล้วนไม่อาจขาดสิ่งของทั้งสี่อย่างนี้ได้ จนมีผู้กล่าวว่า สิ่งล้ำค่าทั้งสี่คือรากฐานทางวัฒนธรรมจีนที่บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองของจีนในอดีต แม้กระทั้งถึงทุกวันนี้ “สิ่งล้ำค่าทั้งสี่”(四宝) ก็ยังดำรงคงอยู่โดยไม่เคยเปลี่ยนแปลง
คำว่า “เหวินฝาง”(文房) หมายถึง ห้องอักษร ซึ่งก็คือ “ซูฝาง”(书房) แปลว่า ห้องหนังสือ สถานที่ที่มีความสำคัญยิ่งต่อการศึกษาเรียนรู้ เพราะ “เหวินฝาง”(ห้องอักษร)ไม่เพียงแต่ใช้ในการเขียนอักษรเมื่ออยู่ภายในตัวบ้านเรือนเท่านั้น แต่ยังใช้เป็นที่อ่านหนังสือหาความรู้ ประพันธ์บทกวี วาดภาพ และเล่นดนตรี นอกจากนี้ ในสมัยโบราณนั้น “เหวินฝาง” ยังใช้เป็นห้องเรียนให้ครูบาอาจารย์ใช้ถ่ายทอดความรู้ รวมทั้งเป็นที่ฝึกฝนการคัดลายมือและปฏิบัติงานจิตรกรรมจีนประเพณี
ส่วนคำว่า “ซื่อเป่า”(四宝)หมายถึง สิ่งล้ำค่าทั้งสี่ (สิ่งวิเศษทั้งสี่) ประกอบไปด้วยอุปกรณ์หรือวัตถุสี่อย่างที่พึงมีไว้อยู่เสมอในห้องหนังสือ (เหวินฝาง)ได้แก่
· พู่กัน หรือ ปี่ (笔) เป็นเครื่องเขียนที่ใช้ในการเขียนอักษรและวาดภาพนับเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรกสุดในห้องหนังสือ
· หมึก หรือ โม่ (墨) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เคียงคู่กับพู่กัน โดยใช้ฝนกับจานฝนหมึกผสมกับน้ำบริสุทธิ์จนละลายรวมกันเป็นหมึกดำที่ดำสนิท
· กระดาษ หรือ จื่อ(纸) เป็นแผ่นที่ใช้รองรับน้ำหมึกจากปลายพู่กันเนื้อกระดาษที่ดีจะช่วยส่งเสริมให้ผลงานแลดูโดดเด่น และคงทนอยู่นาน
· จานฝนหมึก หรือ เอี้ยน(砚) เป็นหินสีดำที่สร้างเป็นจานรองน้ำหมึก ภายในเป็นแอ่งหลุมขนาดเล็กเพื่อรองรับและเก็บกักน้ำหมึกเอาไว้สำหรับใช้ในการเขียนอักษรในแต่ละครั้ง
ในอดีตนั้น “สิ่งล้ำค่าทั้งสี่ในห้องหนังสือ”(เหวินฝางซื่อเป่า) ได้รับการจัดลำดับและยกย่องถึงคุณภาพอันดีเยี่ยมแตกต่างกันตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป อาทิ ในสมัยราชวงศ์ถัง “สิ่งล้ำค่าทั้งสี่ในห้องหนังสือ”ได้แก่พู่กันจูเก๋อ, หมึกหลี่กุยโม่แห่งฮุยโจว, การะดาษเฉิงซินถัง และจานฝนหมึกอู้หยวนหลงเหว่ยแห่งเจียงซี ครั้นถึงสมัยราชวงศ์ซ่ง ลำดับ “สิ่งล้ำค่าทั้งสี่ในห้องหนังสือ” ที่ดีเยี่ยมได้เปลี่ยนแปลงไป โดยประกอบด้วย หูปี่ (พู่กันหูโจวจากเจ้อเจียง), ฮุยโม่(หมึกฮุยโจวจากอานฮุย), ซวนจื่อ(กระดาษซวนโจวจากอานฮุย) และตวนเอี้ยน(จานฝนหมึกจากเจ้าชิ่งจากกวางตุ้ง)
พู่กันหูปี่ของเมืองหูโจว(湖州湖笔)
หมึกฮุยโม่ของเมืองฮุยโจว(徽州徽墨)
กระดาษซวนจื่อของเมืองซวนโจว(宣州宣纸)
จานฝนหมึกตวนเอี้ยนของเมืองเจ้าชิ่ง(肇庆端砚)
แม้ในปัจจุบัน คุณภาพของอุปกรณ์ต่าง ๆ ของ “สิ่งล้ำค่าทั้งสี่ในห้องหนังสือ”(เหวินฝางซื่อเป่า)ในแต่ละท้องถิ่นจะมีการพัฒนาคุณภาพมากยิ่งขึ้นและใกล้เคียงกัน แต่กระนั้น อุปกรณ์ทั้งสี่ตามคำยกย่องที่มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง ก็ยังเป็นที่ยอมรับกันว่า มีมาตรฐานและมีคุณภาพดีเยี่ยมสมคำร่ำลือที่มีมาช้านาน จนทำให้ทุกวันนี้จึงมีคำเรียกติดปากว่า สุดยอดแห่งสิ่งล้ำค่าทั้งสี่ในห้องหนังสือ คือ “หูปี่,ฮุยโม่,ซวนจื่อ,ตวนเอี้ยน” ซึ่งก็คือพู่กันหูปี่(湖笔) ,หมึกฮุยโม่(徽墨), กระดาษซวนจื่อ(宣纸) และจานฝนหมึกตวนเอี้ยน(端砚)
อ้างอิงจาก :
หนังสือ 108 สิ่งมิ่งมงคลจีน – ปิยะแสง จันทรวงศไพศาล
http://www.hudong.com/versionview/BBwReRl,FZX0N,YX10KB1ZEVA
http://item.taobao.com/item.htm?id=4663205453
http://www.xinhuatravel.com.cn/html/ahztzw/2011-01/2398.html
http://www.hudong.com/wiki/%E5%AE%89%E5%BE%BD%E5%AE%A3%E7%BA%B8
http://gd.bookinge.com/2608.html