
“ฮว๋าเปี่ยว” หรือ “หัวเปี่ยว” (华表) คือสัญลักษณ์แห่งประชาชาติจีน กล่าวได้ว่า นี้คือเสาหลักอันสำคัญที่สุดของประเทศจีนเลยก็ว่าได้ ปัจจุบันเสาฮว๋าเปี่ยวทั้งคู่นี้ตั้งอยู่ ณ จัตตุรัสเทียนอันเหมิน (天安门) บริเวณทางเข้าสู่พระราชวังกรุงปักกิ่ง หรือ กู้กง (故宫) “ฮว๋าเปี่ยว” มีสถานภาพเหมือนเสาหลัก เป็นศูนย์รวมจิตใจและความเป็นชนชาติจีนอันเป็นหนึ่งเดียวกัน มีที่มาและความหมายอันลึกซึ้ง
]
จักรพรรติ์เอี๋ยว (尧)
ตำนานของฮว๋าเปี่ยว เล่ากันว่าในยุคดึกดำบรรพ์ของจีน จักรพรรติ์เอี๋ยว (尧) ผู้เป็นหนึ่งในกษัตริย์ยุคโบราณ ได้กำหนดวางแผนสังคมให้เป็นระบบระเบียบ จึงสร้างเสาไม้ใหญ่ปักอยู่กลางชุมชนเพื่อเป็นสัญลักษณ์บอกทางสัญจรสำหรับราษฎร์ ด้วยเหตุที่ลักษณะของเสาเป็นเสาสูงปักตั้งตระหง่าน และมีเสาขวางวางพาดในแนวนอนด้านบน โดยปลายด้านหนึ่งหันชี้บอกทิศทาง จึงเรียกกันว่า “หวนมู่” (桓木) หมายถึง “เสาไม้” หรือ “เปี่ยวมู่” (表木) หมายถึง “ไม้สัญลักษณ์” ต่อมา คนในยุคหลัง ๆ จึงเรียกเสียงผิดเพี้ยนไปว่า “หวนเปี่ยว” (桓表) ซึ่งเสียง “หวน” (桓) ออกเสียงคล้ายกับคำว่า “ฮว๋า” (华) หมายถคงชาวจีนและประเทศจีน (จงฮว๋า 中华) นานวันเข้าก็เปลี่ยนเสียงเรียกเป็น “ฮว๋าเปี่ยว” (华表) แปลว่าสัยลักษณ์จีน หรือสัญลักษณ์แห่งชาวจีนไปในที่สุด
นอกจากนี้ ในสมัยโบราณยังใช้เสาไม้กลางเมืองแบบนี้ในการสลักข้อความระหว่างการเดินทาง รวมทั้งใช้สลักข้อความแนะนำเพื่อบอกทาง ดังนั้น เสาหวนมู่จึงมีอีกชื่อหนึ่งเรียกว่า “เฝ่ยปั้งมู่” (诽谤木) ซึ่งมีหน้าที่คล้าย ๆ ป้ายแนะนำทางหรือป้ายฝากข้อความแบบในปัจจุบัน
ในหลายราชวงศ์ที่ผ่านมา “ฮว๋าเปี่ยว” มักปรากฏอยู่บริเวณทางเข้าสุสานหลวงและจะแกะสลักจากหินอ่อนลายมังกรหรือหงส์ต่าง ๆ แสดงว่า เสาฮว๋าเปี่ยว ดังกล่าวกลายเป็นสัญลักษณ์บอกถึงทางเข้าสู่อาณาสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ และสถานที่นั้น ๆ ต้องเป็นสถานที่สำคัญ ภายหลังคติการสร้างฮว๋าเปี่ยวก็ลดน้อยลง จนกระทั้งมีปรากฏให้เห็นเพียงแค่ในนครหลวงเท่านั้น
ในปัจจุบัน “ฮว๋าเปี่ยว” มีความยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่งต่อศูนย์รวมทางจิตใจของประเทศและประชาชาติจีน ทุกวันนี้เสาฮว๋าเปี่ยวตั้งตระหง่านอยู่ทางด้านซ้ายและด้านขวา บริเวณหน้าประตูทางเข้าสู่พระราชวังกรุงปักกิ่ง ตัวเสาแกะสลักจากหยกขาวขนาดใหญ่ บริเวณลำต้นสลักเป็นลวดลายมังกรดั้นเมฆ ม้วนพันรอบเสาสู่ด้านบน เสมือนหนึ่งว่ามังกรกำลังทะยานฟ้าสู่มวลเมฆ บนยอดด้านบนจะมีหยกขาวในแนวขวางเป็นปีกซ้ายขวา และแกะสลักลายเมฆวางพาดในแนวขวางด้านบนก็มีลักษณะซ้ายขวาไม่เหมือนกัน ด้านหนึ่งจะใหญ่ อีกด้านจะเล็กและปลายเรียวขึ้นสู่ท้องฟ้า ลักษณะจะเป็นลายก้อนเมฆเรียกว่า “หวินป่าน” (云板) แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดและน่าทึ่งที่สุดก็คือ สัตว์ที่อยู่ด้านบนของฮว๋าเปี่ยว ซึ่งไม่ใช่สิงโต และไม่ใช่กิเลน แต่เรียกว่า “โห่ว” (吼) หรือ “เฉาเทียนโห่ว” (朝天吼)

ลายก้อนเมฆเรียกว่า “หวินป่าน” (云板)
“โห่ว” เป็นสัตว์ในตำนาน จัดเป็นหนึ่งในลูกมังกรทั้งเก้าตัว มีนิสัยชอบมองไกล ดังนั้น มันจะมีลักษณะเพ่งมองสู่ด้านหน้าอยู่เสมอ การที่ตัวโห่วอยู่ด้านบนสุดของฮว๋าเปี่ยวทั้ง 2 ต้น เมื่อดูให้ดี ๆ จะเห็นว่าตัวหนึ่งหันหน้าเข้าสู่พระราชวังกรุงปักกิ่ง อีกตัวหนึ่งหันหน้าออกด้านนอกมองไปบริเวณรอบ ๆ ตัวเมืองปักกิ่ง ตัวโห่วที่หันหน้าเข้าสู่พระราชวังปักกิ่ง เรียกว่า “อวั้งตี้ชู” (望帝出) แปลว่า “คอยจักรพรรดิออกไปข้างนอก” มีความหมายถึง การเตือนให้ฮ่องเต้ผู้เป็นเจ้าชีวิตจงอย่านิ่งดูดาย มัวเสวยสุขอยู่แต่ในราชวัง ควรออกไปเยี่ยมเยียนประชาราษฎร์และใส่ใจในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนบ้าง ส่วนตัวโห่วอีกตัวที่หันหน้าออกด้านนอกพระราชวังกรุงปักกิ่ง เรียกว่า “อวั้งตี้กุย” (望帝归)แปลว่า “คอยจักรพรรดิหวนกลับมา” มีความหมายเตือนถึงฮ่องเต้เมื่อเสด็จประพาสออกนอกวังแล้ว ก็อย่ามัวแต่ลุ่มหลงในสุรานารี จงรีบกลับมาบริหารราชกิจและกลับมาปกครองบ้านเมืองต่อไป

“โห่ว” (吼) หรือ “เฉาเทียนโห่ว” (朝天吼)
สรุปแล้วก็คือ สัญลักษณ์ของ “ฮว๋าเปี่ยว” นั้น ไม่เพียงแต่ยิ่งใหญ่ในคุณค่าและเต็มไปด้วยฝีมือแกะสลักอันวิจิตรบรรจง แต่ยังแฝงไปด้วยความหมายที่ลึกซึ้งและเฉียบคมอย่างที่สุด และกลายเป็นเสาสัญลักษณ์แห่งจีนจนตราบถึงทุกวันนี้