
“หยวนเป่า” (元宝) หรือ ชื่อที่คนไทยมักได้ยินสำเนียงแต้จิ๋วว่า “ง้วนป้อ” คือเงินจีนในสมัยโบราณประเภทหนึ่ง มีผู้เรียกมันว่า “เงินตำลึงจีน” ด้วยเช่นกัน
หยวนเป่ามีลักษณะเป็นแท่งเงินปลายโค้งสูงทั้งสองข้าง มีรูปร่างคล้าย ๆ เรือตรงกลาง ตรงกลางแต่เดิมแบนราบ ภายหลังได้ทำให้มันนูนป่องขึ้นตรงกลาง ด้านข้างของเงินหยวนเป่าจะนิยมแกะสลักลวดลายมงคลแบบต่าง ๆ และมักจะมีอักษรมงคลสลักไว้ด้านข้าง ในวัฒนธรรมจีน หยวนเป่าจึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งร่ำรวยนั้นเอง
ในปัจจุบัน แม้จะไม่มีการใช้เงินหยวนเป่าในประเทศจีนแล้วก็ตาม แต่ด้วยเงินหยวนเป่ามีลักษณะอันพิเศษเฉพาะตัว เราก็มักจะสามารถพบเห็นภาพเงินหยวนเป่าในภาพมงคลทั่วไปเสมอ ยิ่งในภาพมงคลนั้น ๆ มักจะสร้างหรือวาดเป็นหยวนเป่าทองคำ ก็ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของหยวนเป่ากลายเป็นเครื่องหมายถึงความร่ำรวยมากขึ้นเท่านั้น
วิวัฒนาการของการใช้เงินตราเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าสมัยโบราณ มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซาง ในตอนนั้นจะมีลักษณะคล้าย ๆ อาวุธรูปดาบหรือขวาน ภายหลังได้เปลี่ยนมาเป็นรูปของเงินแท่งทรงสี่เหลี่ยม มีบันทึกว่า ก้อนแท่งเงินขาวที่มีลักษณะเป็นแบบรูปเรือมีการใช้ครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ถัง เป็นเงินตราที่มีค่าสูงกว่าเงินทั่วไป และใช้สำหรับซื้อประเภทสินค้าราคาสูง ๆ อาทิ ค่าซื้อม้าในสถานประกอบกิจการค้าม้าในสมัยโบราณ

เงินสมัยราชวงศ์ซาง
ในรางวงศ์ถังนั้นเรียกเงินในลักษณะนี้ว่า “ปิ่ง” (饼) และ “ถิ่ง” (铤) ต่อมา ได้พัฒนารูปร่างจากเงินแบบแท่งมาเป็นแบบก้อนและมีปลายโค้งเรียกกันว่า “อิ๋นถิ่ง” (银铤)

“อิ๋นถิ่ง” (银铤)
ครั้นเมื่อสมัยมองโกละครองอำนาจ ในปีที่ 3 ของราชวงศ์หยวน ได้กำหนดเรียก“อิ๋นถิ่ง” (银铤) ว่า “หยวนเป่า” อันมีความหมายว่า “ของวิเศษแห่งราชวงศ์หยวน” และการใช้เงินหยวนเป่าจะใช้เพียงการซื้อขายสินค้าที่มีราคาค่างวดสูง ๆ เท่านั้น

ดังนั้นชื่อ “หยวนเป่า” มีความหมายแท้จริงจากนามของราชวงศ์หยวน และในตอนนั้น หยวนเป่าดั้งเดิมจะทำจากเงินแท้ มีลักษณะโค้งปลายเท่านั้นและไม่มีลักษณะนู้นกลางแต่อย่างใด ส่วนการที่หยวนเป่ามีสีเหลืองทองและมีลักษณะนูนป่องตรงกลางนั้น มาจากความเชื่อของคนจีนที่ไม่ชอบลักษณะเดิมของหยวนเป่าเพราะมันแลดูเหมือนโลงศพมากจนเกินไป ดังนั้น ภายหลังจึงมีการดัดแปลงให้หยวนเป่ามีลักษณะนูนป่องตรงกลาง และให้มีสีสันเป็นดั่งทองคำเพื่อความเป็นสิริมงคลทั้งผู้ให้และผู้รับ
อ้างอิงจาก : หนังสือ 108 ลัญลักษณ์จีน – ปิยะแสง จันทรวงศไพศาล