八卦图

สัญลักษณ์ “แผนผังแปดทิศ” หรือ “ปากั้วถู” (八卦图) เป็นสัญลักษณ์แห่งเต๋า ที่มักใช้ควบคู่กับสัญลักษณ์หยินหยาง (阴阳) ที่คนไทยมักรู้จักกันในชื่อว่า “ยันต์แปดทิศ” และ “ยันต์โป๊ยข่วย”
ปกติแล้ว แผนผังแปดทิศ หรือ ปากั้ว (八卦) เป็นสัญลักษณ์แห่งฟ้าและดินที่สามารถทำนายและหยั่งรู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างฟ้า ดิน และมนุษย์ กำเนิดของสัญลักษณ์ปากั้วนี้ กล่าวกันว่า มาจากการสังเกตลวดลายบนหลังกระดองเต่าวิเศษที่พระเจ้าฝูซี (伏羲) สังเกตและได้บันทึกไว้ในแผนผังเหอถู (河图) และจัตุรัส ลั่วซู (洛书) อันเป็นต้นกำเนิดของศาสตร์โจวอี้ ซึ่งภายหลังมักเรียกกันว่า “อี้จิง” (易经) หลังจากนั้นมา จึงได้กลายมาเป็นเส้นขีดประ (- -) และเส้นขีดเต็ม( __ ) แทนความหมายของ หยินและหยาง
ขีดประ (- -) หมายถึง หยิน (阴) เส้นขีดเต็ม( __ ) หมายถึง หยาง (阳) เมื่อขีดประและขีดเต็มประกอบรวมเข้าด้วยกันในตำแหน่ง บน – กลาง – ล่าง ขีดบนแทนฟ้า ขีดกลางแทนมนุษย์ และขีดล่างแทนดิน จึงทำให้เกิดการเรียงลำดับเส้นขีดขององค์สามรวมเข้ากับทิศทั้งแปดและธาตุทั้งห้า จึงกลายมาเป็นแผนผังแปดทิศ หรือปากั้วถู ในที่สุด
ความหมายในสัญลักษณ์เส้นขีดแห่งองค์ 3 หรือที่เรียกกันว่า “ตรีลักษณ์” ได้แก่

เฉียน (乾) คือ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
ตำแหน่งแห่งฟ้า หมายถึง พ่อ และการสร้างสรรค์
คุน (坤) คือ ทิศตะวันตกเฉียงใต้
ตำแหน่งแห่งดิน หมายถึง แม่ และการยอมรับ
เจิ้น (震) คือ ทิศตะวันออก
ตำแหน่งแห่งสายฟ้า หมายถึง ลูกชายคนโต และการตื่นตัว
ซวิ่น (巽) คือ ทิศตะวันออกเฉียงใต้
ตำแหน่งแห่งลม หมายถึง ลูกสาวคนโต และความอ่อนโยน
ตุ้ย (兑) คือ ทิศตะวันตก
ตำแหน่งแห่งทะเลสาบ หมายถึง ลูกสาวคนเล็ก และความร่าเริง
เกิ้น (艮) คือ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
ตำแหน่งแห่งภูเขา หมายถึง ลูกชายคนเล็ก และความสงบ
ขั่น (坎) คือ ทิศเหนือ
ตำแหน่งแห่งน้ำ หมายถึง ลูกชายคนกลาง และความลึกลับ
หลี (离) คือ ทิศใต้
ตำแหน่งแห่งไฟ หมายถึง ลูกสาวคนกลาง และการติดตาม