火珠
“ไข่มุกไฟ” หรือ “หั่วจู” (火珠) สัญลักษณ์มงคลประการหนึ่งที่มีมาแต่โบราณ ไข่มุกไฟในทัศนะความคิดของชาวจีนโบราณคือ แหล่งรวมแห่งแสงสว่าง เป็นที่ที่เก็บกักและดึงดูดความร้อนและเปลวเพลิงมารวมไว้ จนกลายมาเป็นลูกไข่มุกไฟทรงกลมดั่งลูกไฟ เพราะความเชื่อว่า ไข่มุกไฟนั้นมีอิทธิฤทธิ์ส่องแสงสว่างเจิดจ้า มันจึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์มงคลแห่งแสงสว่างที่สาดส่องทั่วใต้หล้าแดนดิน โดยไม่มีวันดับสูญสลายไปตลอดกาล
สัญลักษณ์ลูกไฟมีปรากฏอยู่ในงานจิตรกรรมและสภาปัตยกรรมมากที่สุดโดยเฉพาะงานสถาปัตยกรรมพระราชวังหลวง พระตำหนักของฮ่องเต้ รวมทั้งยังเป็นส่วนประกอบสำคัญที่นิยมแกะสลักเป็นประติมากรรมรูปไข่มุกไฟบนยอดหลังคาซุ้มประตูจีน บนหลังคาวัดวาอารามทั่วไป บ้างจะเรียกไข่มุกไฟว่า “เป่าจู” (宝珠) ซึ่ง หมายถึง ลูกกลมวิเศษ หรือไข่มุกวิเศษ
ในการออกแบบสร้างประติมากรรมรูปไข่มุกไฟนั้น จะนิยมใช้ให้มีลักษณะคล้ายลูกกลมไฟทรงกลม มักจะสร้างให้มีรัศมีเปลวไฟที่กำลังลุกโชติช่วงและมีเปลวเพลิงแบบ 2 แฉก แบบ 4 แฉก และแบบ 8 แฉก อีกทั้งสัญลักษณ์ลูกไฟนี้ยังนิยมนำมาใช้ร่วมกับมังกร ซึ่งคติความเชื่อดังกล่าวนี้เชื่อว่า มังกรนั้นชอบหยอกล้อเล่นกับไข่มุกไฟ (หั่วจู) ดังนั้น เมื่อใดที่มีการสร้างประติมากรรมรูปมังกรบนหลังคาพระราชวังหลวง พระตำหนักต่าง ๆ วัด วิหาร และเจดีย์ทั่วไป จึงต้องมีการหล่อสร้างประติมากรรมรูปไข่มุกไฟเสมอ สิ่งนี้เองที่ทำให้บนหลังคาสถาปัตยกรรมจีน จึงมักมีรูปของมังกรคู่ซ้ายขวาและกึ่งกลางก็คือไข่มุกไฟ (หั่วจู)
ในงานเทศกาลรื่นเริงและเทศกาลวันขึ้นปีใหม่แบบจีนนั้น มักจะนิยมแห่มังกรเฉลิมฉลองปีใหม่ (ตรุษจีน) ดังนั้น เมื่อมีการแห่มังกรก็จะต้องมีผู้ที่รับหน้าที่ถือเสาไม้ไผ่รูปลูกไฟคอยโบกแกว่งไกวหลอกล่อ เพื่อให้ลำตัวของมังกรที่แห่แหนอยู่นั้นสามารถเลี้ยวลดไปตามทิศทางที่กำหนด กล่าวกันว่า สัญลักษณ์แห่งไข่มุกไฟในการแห่มังกรนั้นเป็นการสื่อสัญลักษณ์ความหมายที่หมายถึงสายฟ้า ฟ้าแลบและฟ้าร้องและเป็นความหมายหมายถึงแสงสว่างของดวงอาทิตย์ด้วยเช่นกัน
อ้างอิงจาก : หนังสือ 108 ลัญลักษณ์จีน – ปิยะแสง จันทรวงศไพศาล