关羽 กวนอู
วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 www.jiewfudao.com
“กวนอู” หรือชื่อในสำเนียงจีนกลางว่า “กวนอวี่(关羽)” ได้รับการยกย่องเทิดทูนอย่างสูงจากชาวจีนในปัจจุบัน ในทางลัทธิเต๋าได้ยกย่องให้กวนอูเป็น “เซียน” แห่งความภักดีและซื่อสัตย์ อีกทั้งยังถือว่าเป็น “เทพ” แห่งโชคลาภ เรียกกันว่า “อู่ไฉเสินเย่” หรือ “ไฉซิงเอี๊ยบู้(武财神爷)” ในขณะที่ทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานยกย่องให้กวนอูเป็นโพธิสัตว์องค์หนึ่ง เรียกกันว่า พระสังฆรามโพธิสัตว์ หรือ “เจียหลานผูซ่า” (伽蓝菩萨)
คติการนับถือกวนอูเป็นเสมือนดั่งประหนึ่งเทพเจ้านั้น มีที่มาเริ่มต้นเมื่อ ค.ศ.1102 ในสมัยราชวงศ์ซ่ง รัชสมัย ซ่งฮุยจงฮ่องเต้ โดยได้พระราชทานอวยยศบรรดาศักดิ์ให้กวนอูเป็น “จงฮุ่ยกง(忠惠公)” หมายถึง เทพผู้ภักดี นับตั้งแต่นั้นมา ในทุกราชวงศ์หลังจากนั้นคือ ราชวงศ์หยวน, หมิง และชิง ก็ได้มีการถวายบรรดาศักดิ์ให้แก่กวนอู จนมีฐานะเป็นดั่งเทพเจ้าองค์หนึ่งของจีน ชาวบ้านทั่วไปจะเคารพเทิดทูนกวนอูเป็นอย่างสูง และมักเรียกท่านว่า “กวนเซิ่งตี้จวิน(关圣帝君)”, “กวนกง (关公)” , “กวนตี้ (关帝)”, “กวนเหล่าเย่ (关老爷)” , “กวนเอ้อเย่ (关二爷)” และ “กวนเอ้อเกอ(关二哥)” เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ในประเทศจีนมีศาลเจ้าของกวนอูเป็นจำนวนมาก และยังแพร่หลายในไต้หวัน ฮ่องกง รวมทั้งในประเทศต่าง ๆทั้งในเอเชียและยุโรป ที่มักจะมีศาลกวนอูอยู่ตามแหล่งชุมชนชาวจีนทั่วทุกมุมโลก
ในประวัติศาสตร์จริงของกวนอู เป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงในปลายราชวงศ์ฮั่นและสมัยสามก๊กที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักกันดี กวนอู(กวนอวี่) มีชื่อรองว่า “กวนหวินฉาง(关云长)” เกิดเมื่อวันที่ 24 เดือน 6 จีนศักราชเอี่ยงฮี ปี พ.ศ. 703 ในรัชสมัยของพระเจ้าฮั้นฮวนเต้ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 เดือนที่ 7 จีนศักราชเคี่ยงเซ้ง ปี พ.ศ. 762 ในรัชสมัยของพระเจ้าฮั่นเหี้ยนเต้ เป็นชาวอำเภอไก่เหลียง ลักษณะตามคำบรรยายในวรรณกรรมสามก๊ก กวนอูเป็นผู้มีรูปร่างสูงใหญ่ 9 ฟุตจีนหรือประมาณ 6 ศอก ใบหน้าแดงเหมือนผลพุทราสุก นัยน์ตายาวรี คิ้วดั่งหนอนไหม หนวดเครางามถึงอกมีง้าวรูปจันทร์เสี้ยว ยาว 11 ศอก หนัก 82 ชั่ง เป็นอาวุธประจำกายเรียกว่า "ง้าวมังกรเขียว" หรือ "ง้าวมังกรจันทร์ฉงาย" เชี่ยวชาญและเก่งกาจวิทยายุทธ จงรักภักดี กตัญญูรู้คุณ มีคุณธรรมและซื่อสัตย์เป็นเลิศ
กวนอูได้เข้าร่วมสัตย์สาบานเป็นพี่น้องกับเล่าปี่และเตียวฮุย จากนั้นมา ก็ได้ออกสู้รบทำศึกด้วยความห้าวหาญ และมีส่วนช่วยให้เล่าปี่ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งก๊กสู่ (จ๊กก๊ก) วีรกรรมต่าง ๆ ในสมัยสามก๊กของกวนอูเป็นที่เล่าขานสืบทอดต่อ ๆ กันมาหลายชั่วอายุคน สร้างความประทับใจให้แก่ชาวจีนอย่างลึกซึ้ง ดังนั้น เมื่อภาพลักษณ์แห่งกวนอูได้สะท้อนผ่านงานทางด้านศิลปะทั้งจิตรกรรมและประติมากรรมจึงมักปรากฏรูปของกวนอูในบุคลิกของขุนศึกผู้เหี้ยมหาญและซื่อสัตย์ ส่วนใหญ่แล้วจะสร้างกวนอูมีใบหน้าสีแดง หนวดเครายาวจรดอก สวมอาภรณ์สีเขียว มีใบหน้าที่กล้าหาญและดุดัน
ภาพแห่งกวนอูในฐานะของเทพเจ้าแห่งสงคราม จึงเป็นสัญลักษณ์สิริมงคลในความหมายของการต่อสู้ชิงชัย และมักสวมชุดเกราะห้ามังกรพร้อมง้าวมังกรเขียวงานศิลปหัตถกรรมเกี่ยวกับกวนอูจึงมีรูปแบบและลักษณะที่ไม่เหมือนกัน และได้รับการกราบไหว้บูชาในความหมายที่แตกต่างกันไปด้วย คือ
“ลี่กวนกง(立关公)” หรือ “กวนอูยืน” เป็นคำเรียกรูปเคารพกวนอูในท่ายืน สองตาเขม็งเพ่งมองไปเบื้องหน้า มือขวามักจะถือง้าวมังกรเขียวไว้ข้างกาย มีท่วงท่าที่องอาจงามสง่าพร้อมออกศึก นับเป็นรูปเคารพกวนอูที่พบเห็นกันมากที่สุด และได้รับการประดับบูชาไว้ตามอาคารบ้านเรือนและบริษัทสำนักงานปกติแล้วจะต้องวางรูปกวนอูยืนในตำแหน่งที่หันหน้าออกหน้าบ้าน แต่จะไม่วางไว้ตรงหน้าประตูทางเข้า โดยจะวางไว้บริเวณภายในบ้านแล้วค่อยหันหน้าออกสู่ด้านนอก เชื่อกันว่า จะช่วยขับไล่สิ่งชัวร้ายนานาและภัยอุปสรรคทั้งมวลให้ผ่านพ้นไป เพราะหากมีสิ่งชั่วร้ายใด ๆ เข้ามาสู่ประตูบ้านแล้ว เมื่อเห็นรูปกวนอูยืนอยู่ด้านใน ก็จะหลีกลี้หนีไปไกลแสนไกล
“ฉีหม่ากวนกง(骑马关公)” หรือ “กวนอูขี่ม้า” เป็นรูปกวนอูในท่าควบขับบนหลังม้าที่กำลังโผนโจนทะยาน เป็นท่วงท่าก่อนออกทำศึกสงคราม ดังนั้น การวางรูปเคารพกวนอูในแบบลักษณะนี้ จะเท่ากับการประกาศศึกกับศัตรู ปกติแล้วนิยมตั้งรูปกวนอูในท่าควบขับบนหลังม้าเพื่อสะท้อนถึงความหมายของการต่อสู้แข่งขันทางธุรกิจการค้า หากตั้งประดับไว้ก็จะประสบชัยชนะเหนือคู่แข่งทั้งปวง
“กวนกงเย่ตู๋ (关公夜读)” หรือ “กวนอูอ่านตำรายามราตรี” เป็นรูปกวนอูในท่าอ่านตำรา มือหนึ่งถือตำราหนังสือม้วนพับไว้อีกมือหนึ่งจะลูบเคราในลักษณะท่วงท่าสมาธิระหว่างการอ่านตำรา ดังนั้น การวางรูปเคารพกวนอูในลักษณะแบบนี้ จะเป็นเคล็ดในความเชื่อว่า หากตั้งไว้ ณ ตำแหน่งของการศึกษาตามหลักฮวงจุ้ยแล้วก็จะทำให้ประสบชัยชนะในการศึกษาเล่าเรียนและสามารถสอบแข่งขันเข้ารับราชการได้ดั่งใจปรารถนา
ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าเวลาจะพ้นผ่านไปนานนับร้อยนับพันปี ความเชื่อความศรัทธาในเทพเจ้ากวนอูที่มีฐานะเสมือนหนึ่ง “เทพแห่งความซื่อสัตย์” “เทพเจ้าแห่งโชคลาภ” และ “เทพแห่งสงคราม” จึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์สิริมงคลที่หยั่งรากฝังลึกอยู่ในคติความเชื่อของชาวจีนมาทุกยุคทุกสมัย และเป็นที่สักการบูชามาตราบจนปัจจุบัน
อ้างอิงจาก :
- หนังสือ 108 ลัญลักษณ์จีน – ปิยะแสง จันทรวงศไพศาล
- http://th.wikipedia.org/wiki/กวนอู
- http://travel.people.com.cn/GB/12030903.html
- http://www.seeall.cc/index.php/Supplies/ProductDetail/pdid/348
- http://www.360doc.com/content/09/1119/23/192268_9385530.shtml