วันพุธที่ 24 สิงหาคม 2554 www.jiewfudao.com
ท้าววิรุฬหกมหาราช(Virudhaka) หรือ เจิงจ่างเทียนหวาง (增长天王) หมายถึง มหาราชาผู้พิทักษ์ปกป้องพระธรรม นามเดิมของท่านคือ ผีหลิวหลี(批琉璃) หรือบ้างเรียกในชื่ออสูรว่า หมอลี่ชิง(魔礼青) ภายหลังจากที่ท้าววิรุฬหกมหาราชได้ปวารณาตัวเพื่อรับใช้พระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ได้ทรงหมายหน้าที่ให้ท่านมีหน้าที่ในการคุ้มครองพระธรรมคัมภีร์ของพระพุทธศาสนาให้ปลอดภัย รวมทั้งให้พระธรรมขจรไกลไปสู่ดินแดนต่าง ๆ อย่างกว้างไกล โดยท้าววิรุฬหกมหาราชได้ปกครองประจำตำแหน่งทักษิณ(ทิศใต้) ของเขาซวีหมีซาน (เขาพระสุเมรุ) บนผืนแผ่นดินแห่งกระจก
ลักษณะของท้าววิรุฬหกมหาราชนั้น แต่งกายด้วยชุดนักรบสวมชุดเกราะดั่งแม่ทัพใหญ่ มีพระพักตร์สีเขียวเข้ม(บ้างว่าเป็นสีน้ำเงิน) พระหัตถ์ทรงถือไว้ด้วยกระบี่วิเศษที่มีสีเขียวคราม เรียกกันว่า ชิงเฟิงเป่าเจี้ยน (青峰宝剑) กระบี่เล่มนี้มีความแหลมคมดั่งสิ่งวิเศษ ตัดฟันสิ่งใดล้วนขาดสบั้น บ้างก็กล่าวว่าท้าววุรุฬหกมหาราชมีมหามนตรา จึงสามารถใช้เวทมนต์ให้บังเกิดเป็นเปลวไฟที่มีพลังอำนาจอันร้ายแรง และกระบี่วิเศษของท่านนั้น ยามใดที่สะบัดออกก็จะบังเกิดเป็นลมพายุโหมกระหน่ำ
ดังนั้น ความแหลมคมของตัวกระบี่ชิงเฟิงเป่าเจี้ยนได้เป็นที่มาของความหมายประจำตัวท่าน เพราะคำว่า "เฟิง"(锋) ที่มาจากชื่อกระบี่ ออกเสียงเหมือนกับคำว่า "เฟิง"(风) ที่แปลว่า ลม อีกทั้งลักษณะของกระบี่เมื่อยามสะบัดออกจะบังเกิดเป็นลมพายุขนาดใหญ่ จึงมีความหมายว่า "เฟิง" (风) เช่นกัน ในอักษรมงคลคำว่า เฟิงเถียวอวี่ซุ่น (风调雨顺) ที่หมายถึง สะดวกราบรื่นและสำเร็จดั่งใจหมายนั้น อักษร "เฟิง"(风) ในที่นี้จึงหมายถึง ท้าววิรุฬหกมหาราช (เจิงจ่างเทียนหวาง)
ตำนานเกี่ยวกับท้าววิรุฬหกมหาราช มีปรากฏในเทพนิยายอิงพงศาวดารเรื่อง เฟิงเสินเอี่ยนอี้ (พงศาวดารประกาศิตสวรรค์ตั้งเทพเจ้า) และเรื่อง ไซอิ๋ว (บันทึกท่องตะวันตก)เช่นเดียวกับท้าวจตุโลกบาลองค์อื่น ๆ
อ้างอิงจาก :
หนังสือ 108 สิ่งมิ่งมงคลจีน – ปิยะแสง จันทรวงศไพศาล
http://mybuddha.blog125.fc2.com/blog-entry-13.html
http://detail.cn.hisupplier.com/product/284560/%E5%A2%9E%E9%95%BF%E5%A4%A9%E7%8E%8B.html
http://www.sutra.org.tw/library/reads%20online/Riches/jafu/10.htm
http://www.thangkar.com/art/show/show/4gua/fgua-en.htm
http://www.ratnavoyages.com/