วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 www.jiewfudao.com
พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ หรือ เหวินซูผูซ่า (文殊菩萨) ในสำเนียงแต้จิ๋วนิยมเรียกว่า บุ่งซู้ผ่อสัก พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเรียกพระนามเต็มของพระองค์ว่า เหวินซูซือลี่ผูซ่า (文殊师利菩萨) หรือบ้างเรียกแบบทับศัพท์ว่า ม่านซูซือลี่ผูซ่า(曼殊室利菩萨) พระองค์เป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระศากยมุนีพุทธเจ้า ในขณะที่พระสมันตภัทรโพธิสัตว์เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา ดังนั้น ในคตินิยมทางพุทธศิลป์จึงนิยมการสร้างประติมากรรมหรือจิตรกรรมรูปศากยมุนีพุทธเจ้า พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ และพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ เรียงกันเป็นองค์สาม เรียกกันว่า หวาเอี๋ยนซานเสิ้ง(华严三圣)
หวาเอี๋ยนซานเสิ้ง(华严三圣)
ชาวจีนส่วนใหญ่นิยมเรียก “พระมัญชุศรีโพธิสัตว์” ว่า “เหวินซูผูซ่า” อันเป็นการเรียกแบบแปลความหมายของพระนาม ไม่ใช่การเรียกทับศัพท์ เหวิน(文) หมายถึง อักษร หรือ หนังสือ ส่วน ซู (殊) หมายถึง พิเศษหรือสิ่งอัศจรรย์ พระองค์ทรงเป็นตัวแทนแห่งปัญญาและความคิดอันปราดเปรื่อง
ส่วนพระนามของพระองค์ ม่านซู (曼殊) มาจากภาษาสันสกฤตว่า มัญชุ (Manju) แปลว่า ไพเราะ, อ่อนหวาน ส่วนคำว่า ซือลี่ (师利,室利) มาจากภาษาสันสกฤต ศรี (Sri) แปลว่า มงคล, รุ่งเรือง พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ จึงหมายถึงพระโพธิสัตว์แห่งความรุ่งเรืองและอ่อนโยน หรือ พระโพธิสัตว์แห่งความไพเราะทรงเป็นตัวแทนของ “ปัญญาบารมี” และเชื่อกันว่า พระองค์จะคอยคุ้มครองพิทักษ์นักปราชญ์และผู้มีปัญญาความรู้ให้เจริญก้าวหน้า
พุทธลักษณะของพระองค์นั้นจะสร้างแตกต่างกันตามคติความเชื่อของแต่ละท้องถิ่นและแต่ละชนชาติ ในคติแบบจีนนั้น บ้างสร้างให้พระองค์ถือหยกหยูอี้ (如意) ไว้ในพระหัตถ์ซ้าย ฝ่าพระหัตถ์ขวายกขึ้นประทานพร เป็นความหมายถึงการมอบความสุขสมหวังประทานให้ อีกแบบหนึ่งนั้น จะสร้างให้พระหัตถ์ข้างขวาถือไว้ด้วย “กระบี่” (บางความเชื่อจะใช้เป็น “พระขรรค์”) สัญลักษณ์แห่งการตัดทิ้งความโง่เขลา เป็นปริศนาธรรมที่แฝงถึง “การมีปัญญาเป็นดั่งอาวุธ” นั่นเอง ในขณะที่พระหัตถ์ซ้ายจะประคองถือหนังสือเอาไว้ หรือบางความเชื่อสร้างเป็นรูปดอกบัว อันเป็นความหมายแห่งบุญญาบารมีหรือความรู้แห่งตน
พระหัตถ์ข้างขวาถือไว้ด้วย “กระบี่”
นอกจากนี้ หลายครั้งที่มักเห็นสัญลักษณ์รูปพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ (เหวินซูผูซ่า) ประทับนั่งบนหลังราชสีห์สีน้ำเงิน(หรือสีเขียว) มีความหมายถึง ความเป็นเลิศแห่งปัญญาและการแสดงธรรมโดยไม่หวาดเกรงต่อผู้ใด ราชสีห์นั้นเป็นตัวแทนแห่งอำนาจและความยิ่งใหญ่ มีความกล้าหาญและเด็ดเดี่ยว อีกทั้งเสียงคำรามนั้นนอกจากจะเป็นที่หวาดเกรงต่อหมู่มารแล้ว ยังเป็นเสมือนการประกาศพระศาสนาออกไปไกลแสนไกลดั่งเสียงคำรามก้องของราชสีห์ เพื่อให้ชาวโลกตื่นขึ้นจากความเขลา
พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ (เหวินซูผูซ่า) ประทับนั่งบนหลังราชสีห์สีเขียว
ในทิเบตให้ความสำคัญและยกย่องนับถือในองค์พระมัญชุศรีโพธิสัตว์เป็นอย่างมาก รวมทั้งในอินเดีย เนปาล ภูฏาน นอกจากนี้ ในสมัยโบราณนั้น นูรฮาจี(Nurhaji) ผู้นำแห่งชนเผ่าหนี่เจิน หรือจูเชิน(Jurchen) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เป็นผู้หนึ่งที่ให้ความศรัทธาในองค์พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ต่อมา นูรฮาจี ยกกำลังกองทัพของตนเข้าพิชิตราชวงศ์หมิงลงได้ พระองค์ได้ประกาศสถาปนาราชวงศ์ชิงขึ้นแทนที่ และประกาศเปลี่ยนชื่อเรียกชนเผ่าของตนจากคำว่า “หนี่เจิน” มาเป็น “แมนจู”(Manchu) ซึ่งคำว่า “แมนจู”นั้น ออกเสียงมาจากคำว่า “มัญชุ” นั่นเอง
เทือกเขาอู่ไถซาน(五台山)
ในประเทศจีนเชื่อกันว่า พระมัญชุศรีโพธิสัตว์สถิตอยู่ ณ เทือกเขาอู่ไถซาน(五台山) หรือชื่อเดิมของภูเขาคือ ชิงเหลียงซาน(清凉山) เทือกเขานี้ตั้งอยู่ในเขตมณฑลซานซี ซึ่งเป็นหนึ่งใน 4 ขุนเขาศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน กล่าวกันว่า ณ เทือกเขาศักดิ์สิทธิ์อู่ไถซาน จะประกอบขึ้นด้วย 5 ยอดดอย อันได้แก่ อวั้งไห่เฟิง, กั้วเยี่ยเฟิง, จิ่นซิ่วเฟิง,เยี่ยโต้วเฟิง และชุ่ยเอี๋ยนเฟิง ซึ่งยอดดอยทั้ง 5 นี้ล้วนแต่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 2,485-3,058 เมตร ปัจจุบันกลายมาเป็นเทือกเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งประเทศจีน
อ้างอิงจาก :
หนังสือ 108 สิ่งมิ่งมงคลจีน – ปิยะแสง จันทรวงศไพศาล
http://club.fjdh.com/8784/viewspace-82710.html
http://www.fjdh.com/Article/HTML/Article_20070520221443.html
http://www.bskk.com/redirect.php?tid=229283&goto=lastpost
http://www.foyin.com/html/Pusha/200911/12-81538.html
http://gyt.mnssh.com/Html/?298.html
http://www.china84000.com/Article/Special/wtswhj/
http://pic.goodweb.cn/buddha_pic/huayan3/w%E5%8D%97%E6%97%A0%E5%A4%A7%E6%99%BA%E6%96%87%E6%AE%8A%E5%B8%88%E5%88%A9%E8%8F%A9%E8%90%A8.asp
http://www.artjoss.com/Artworks/works_7_wenzhu.html