วันศุกร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2554 www.jiewfudao.com
พระยูไล หรือในสำเนียงจีนกลางเรียกว่า หรูไหลฝอ (如来佛) มีความหมายเดียวกันกับ หรูไหลฝอจู่ (如来佛祖) พระนามคำนี้เป็นที่กังขาของหลายคนที่สับสนในความหมาย ว่าหมายถึงพระพุทธรูปหรือพระโพธิสัตว์องค์ใด ซึ่งความหมายที่แท้จริงของพระนามคำนี้ ไม่ได้หมายถึงพระนามที่เป็น “ชื่อเฉพาะ” ของพระองค์ใดเลย หากแต่เป็นเพียงคำเรียกแทนพระนามของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรงกับคำว่า “ตถาคต” หรือ “พระนามพระพุทธเจ้า” มีความหมายว่า “พระผู้ไปแล้วอย่างนั้น” ซึ่งเป็นคำที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกตัวพระองค์เอง
ดังนั้น “ยูไล (如来)” ก็คือ “พุทธ (佛)” และ “ยูไล” ก็คือคำคำเดียวกันกับ “พระพุทธเจ้า” ซึ่งชาวจีนนิยมเรียกว่า ซื่อเจียโหมวหนี (释迦牟尼) โดยในสำเนียงแต้จิ๋วจะออกเสียงเรียกว่า เส็กเกี่ยมอนี หรือ พระศากยมุนีพุทธเจ้า นั้นเอง
ในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานนิกายที่มีการเคารพนับถือกันอย่างกว้างขวางในประเทศจีนนั้น มีความเชื่อกันอีกว่า “พระนาม” แห่งพระพุทธองค์ที่ทรงใช้เรียกแทนตัวพระองค์เองนั้นมีจำนวนถึง 10 พระนาม ดังที่มีปรากฏใน “คัมภีร์พุทธะวจนะสิบพระนาม(佛说十号经)” ดังนี้
· หรูไหล (如来) อิงกง (应供)
· เจิ้งเติ่งเจวี๋ย (正等觉) หมิงสิงจู๋ (明行足)
· ซ่านซื่อ (善逝) ซื่อเจียนเจี่ย (世间解)
· อู๋ซ่างซื่อ (无上士) เตี้ยวอวี้จ้างฟู (调御丈夫)
· เทียนเหรินซือ (天人师) ซื่อจุน (世尊)
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า คำว่า “หรูไหล”(ยูไล) เป็นพระนามแรกของพระพุทธเจ้า(พระศากยมุนีพุทธเจ้า) จึงทำให้คำว่า หรูไหล (ยูไล) เป็นคำที่คุ้นหูและได้ปรากฏในพระคัมภีร์อื่น ๆ ทางพระพุทธศาสนามากที่สุดเช่นกัน
พุทธลักษณะขององค์พระยูไล มักอยู่ในปางประทับนั่งบนปัทมาสน์(บัลลังค์ดอกบัว) พระพักตร์อวบอิ่มเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา ด้านหลังของพระองค์มักสร้างเป็นรูปประกายรัศมีหรือประภามณฑล(คล้ายเปลวไฟ) บางครั้งจะวาดให้มีประกายรัศมีดุจดั่งดวงอาทิตย์ บนพระอุระจะมีสัญลักษณ์ “สวัสติกะ” หรือ “ว่าน” อันเป็นสัญลักษณ์สำคัญแห่งความสุขสวัสดีและเครื่องหมายประจำพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ดังนั้น การประดิษฐานองค์พระยูไลก็จะมีความหมายเช่นเดียวกับการประดิษฐานพระพุทธรูปในฝ่ายหินยาน เพราะสำหรับคติความเชื่อแบบจีนนั้น พระพุทธเจ้าก็คือพระองค์เดียวกันกับพระศากยมุนีพุทธเจ้า และในการวางตำแหน่งของพระยูไล จะนิยมวางไว้ตรงกึ่งกลาง บางครั้งจะมีการตั้งพระยูไลเพื่อสักการะบูชา โดยด้านข้างอาจจะวางพระโพธิสัตว์องค์สำคัญไว้ก็มีให้เห็นเช่นกัน
ภูเขาอู่จื่อซาน (五指山)
ในตำนานเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับพระยูไล มักมีประติมากรรมเป็นรูปฝ่าพระหัตถ์ของพระยูไล เรียกกันว่า ฝ่ามือยูไล หรือ ยูไลเสินจ่าง(如来神掌) ความหมายของคำ ๆ นี้มาจากตำนานเรื่อง “ไซอิ๋ว”(西游记) ที่เล่าถึงเห้งเจีย(ซุนหงอคง) ผู้เก่งกาจสามารถ ซึ่งแม้แต่กองทัพสวรรค์นับหมื่นก็ไม่อาจเอาชนะได้ แต่เพราะความทระนงของซุนหงอคงที่อาจหาญมาพนันขันต่อกับพระยูไล โดยประกาศว่าสามารถเหาะเหินได้ไกลหลายพันลี้ และสามารถกระโดดข้ามพ้นฝ่าพระหัตถ์ขององค์พระยูไลได้อย่างง่ายดาย แต่ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าซุนหงอคงจะกระโดดไกลเพียงใด เหาะเหินไปมากเพียงไหน ก็ยังไม่อาจก้าวข้ามพ้นภูเขา 5 ยอดสูงที่อยู่เบื้องหน้าได้ ซึ่งภูเขาห้ายอดนั้น แท้ที่จริงแล้วก็คือฝ่าพระหัตถ์ขององค์พระยูไลนั้นเอง ผลจากการพ่ายแพ้นี้ ทำให้ซุนหงอคงต้องถูกทับอยู่เบื้องใต้ภูเขา 5 ยอดนั้น ซึ่งเรียกกันว่า ภูเขาอู่จื่อซาน (五指山) นานถึง 5 ร้อยปี
จากเหตุการณ์ในตำนานเรื่องนี้ จึงเป็นที่มาของคำว่า “หรูไหลเสินจ่าง” (ฝ่ามือยูไล) และยังเป็นเสมือนรูปเคารพที่เป็นคติเตือนใจไม่ให้ผู้หนึ่งผู้ใดมีความทระนงหรือหยิ่งยะโสในตนเอง
อ้างอิงจาก :
· หนังสือ 108 สิ่งมิ่งมงคลจีน – ปิยะแสง จันทรวงศไพศาล
· http://www.shouji54.com/jierishoujibizhi/shoujibizhi_3969.html
· http://fo.ifeng.com/changshi/detail_2010_01/13/289970_0.shtml
· http://www.jyjt.org/bbs/viewthread.php?action=printable&tid=305
· http://www.thaigoodview.com/node/12374
· http://www.hudong.com/wiki/%E4%BA%94%E6%8C%87%E5%B1%B1
· http://www.zmxh.com/bbs/viewthread.php?action=printable&tid=1614
· http://www.rooyii.com/bbs/viewthread.php?tid=2015&extra=page%3D1
· http://buddha.goodweb.cn/music/zt/buddha/index.asp
· http://hi.baidu.com/weimiaofanyin/blog/category/%B7%F0%C6%D0%C8%F8%CA%A5%B5%AE
· http://fate.sz.zj.cn/news/show.asp?id=8275
· http://www.17u.com/blog/article/178927.html