วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 www.jiewfudao.com
พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ (SAMANTABHADRA BODHISATTVA) หรือผู่เสียนผูซ่า(普贤菩萨) ในสำเนียงแต้จิ๋วนิยมเรียกว่า โผวเฮี้ยงผ่อสัก บ้างเรียกพระนามอีกแบบหนึ่งว่า เปียนจี๋ผูซ่า(遍吉菩萨) พระองค์ทรงเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาของพระศากยมุนีพุทธเจ้า ในขณะที่พระมัญชุศรีโพธิสัตว์เป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้าย ดังนั้น ในคตินิยมทางพุทธศิลป์จึงนิยมการสร้างประติมากรรมหรือจิตรกรรมรูปพระศากยมุนีพุทธเจ้า พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ และพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ เรียกกันเป็นองค์สาม อันเป็นสัญลักษณ์แห่งแดนสุขาวดี เรียกกันว่า ฮว๋าเอี๋ยนซานเสิ้ง(华严三圣)
ฮว๋าเอี๋ยนซานเสิ้ง(华严三 圣)
ชาวจีนส่วนใหญ่นับถือพระสมันตภัทรโพธิสัตว์(ผู่เสียนผูซ่า) ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ผู้เป็นตัวแทนแห่งการกระทำแต่ความดีสู่โลกหล้า บ้างเรียกว่า เป็นพระโพธิสัตว์แห่งวิถีคุณธรรม ดังนั้น ในคติความเชื่อของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานนั้น พระสมันตภัทรโพธิสัตว์จึงเป็นสัญลักษณ์ธรรมปฏิบัติ ทำให้เมื่อมีการสร้างรูปเคารพพระองค์ จึงนิยมสร้างให้มีพระวรกายสีทองงามอร่าม พระหัตถ์ขวาจะถือไว้ด้วยก้านและใบบัว (เป็นความหมายถึงผู้ตื่นจากความหลง)พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในท่าปางประทานพร
พระวรกายสีทองงามอร่าม
ลักษณะของท่าประทับของพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ อาจแตกต่างกันไปตามแต่ความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น โดยลักษณะอันสำคัญของพระองค์นั้น จะทรงนั่งบนหลังสัตว์วิเศษที่เป็นสัตว์พาหนะคือ ช้างเผือกหกงา ช้างตัวนี้มีสีขาวปลอดทั้งตัว มีงาอันแหลมคมข้างละสาม รวมกันเป็นหกงา คติการสร้างเป็นรูปช้างนี้ มีความหมายแฝงถึงสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ ในอีกมุมหนึ่งนั้น กิเลสของสรรพสัตว์นั้นมีความหนักและมากล้นเหมือนดังช้างอันใหญ่โต การควบคุมบังคับช้างที่มีรูปร่างใหญ่หนักอึ้ง ทุกก้าวย่างมีแต่ความเชื่องช้า แต่หากใช้พระเมตตาอันอ่อนโยน ก็จะสามารถควบคุมบังคับช้างตัวนั้นได้ดั่งใจปรารถนา
ในทางมหายานนั้น สัญลักษณ์รูปพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ทรงช้างเผือกหกงานี้ มีความหมายสำคัญเพื่อแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของพระศาสนา เป็นการประกาศพุทธศาสนาสู่โลก ด้วยลักษณะของบุญบารมี จึงทำให้ด้านหลังของพระองค์มักมีประภามณฑลดั่งเปลวไฟประดับไว้อยู่ด้านหลังเสมอ การสร้างรูปเคารพของพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ จึงมักสร้างไว้คู่กันกับพระมัญชุศรีโพธิสัตว์เสมอ โดยมีความหมายสำคัญถึงการบรรลุพุทธภูมิ ตามที่มีบันทึกไว้ใน “พระปณิธานสิบประการของพระสมันตภัทรโพธิสัตว์” ที่ทรงตั้งปณิธานในการชี้นำมนุษย์ให้พึงปฏิบัติในคุณงามความดี
ภูเขาเอ๋อเหมยซาน(峨眉山) หรือเขาง๊อไบ๊
ในประเทศจีนเชื่อกันว่า พระสมันตภัทรโพธิสัตว์สถิตอยู่ ณ ภูเขาเอ๋อเหมยซาน(峨眉山) หรือเขาง๊อไบ๊ ภูเขาเอ๋อเหมยซานนี้ตั้งอยู่ในเขตมณฑลเสฉวน ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ขุนเขาศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ขุนเขาศักดิ์สิทธิ์เอ๋อเหมยซานตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 3,099 เมตร มียอดดอยสำคัญที่อยู่ตำแหน่งที่สูงที่สุดเรียกกันว่า ยอดจินติ่งซือฟาง(金顶十方) หรือหมายถึง ยอดดอยสิบทิศ ปัจจุบันนี้ บนยอดดอยสิบทิศยังเป็นที่ประดิษฐานประติมากรรมรูปพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ (ผู่เสียนผูซ่า) ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในท่าปางประทับนั่งด้านล่างของพระองค์สร้างไว้เป็นประติมากรรมช้างหกงาขนาดใหญ่โตมโหฬารสามารถมองเห็นประติมากรรมขนาดใหญ่นี้ได้ตั้งแต่พื้นเบื้องล่าง
ประติมากรรมรูปพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ บนยอดจินติ่งซือฟาง(金顶十方)
อ้างอิงจาก :
· หนังสือ 108 สิ่งมิ่งมงคลจีน – ปิยะแสง จันทรวงศไพศาล
· http://guanglungongxiu.net/glgx/viewthread.php?tid=234
· http://www.bskk.com/viewthread.php?tid=229283
· http://picasaweb.google.com/lihongweik/rFobOH#
· http://www.nanputuo.com/nptsub/html/200803/2808410573499.html
· http://www.jingtu.org/lz/fz/puxan.htm
· http://www.tnn911.com/zhuanti/sichuan/elexian.htm
· http://news.lvren.cn/html/zhuanti/ems/yangsheng/2010/0603/43675.html
· http://www.mjjq.com/tours/2390.html
· http://picasaweb.google.com/vclin22/ThuJTD#
· http://www.nipic.com/show/2/48/38a15c54085c6df6.html
· http://www.9qq9.cn/article/186/Article4402_1.html
· http://picasaweb.google.com/vclin22/ThuJTD#
· http://www.emsfj.com/news/ShowArticle.asp?ArticleID=2767
· http://www.fowg.cn/fjys2/HTML/fjys2_48763.html