渔翁得利

“เฒ่าประมงตกปลา” (渔翁得利) หรือ “ชาวประมงตกปลา” (渔人得利) เป็นภาพวาดจิตรกรรมและประติมากรรมที่หลายท่านคุ้นตากันดี แท้จริงแล้วรูปชายชราชาวประมงตกปลานั้นมีที่มาและความหมายที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เรียกภาพดังกล่าวนี้ว่า “อวี๋ เวิง เต๋อลี่” (渔翁得利) แปลตรงตัวก็คือ “เฒ่าประมงได้กำไร” อันมีความหมายเป็นมงคลนามว่า “ขอให้ท่านได้กำไรร่ำรวย ดั่งเฒ่าประมงตกปลา” ทั้งนี้เป็นเพราะคำว่า ลี่ (利) หมายถึง กำไร ผลประโยชน์ ดังนั้น จึงเกิดความคิดสร้างสรรค์กลายมาเป็นที่มาของภาพเฒ่าประมง(渔翁) ที่ได้โชคลาภโดยไม่คาดฝัน สิ่งนั้นก็คือความหมายของคำว่า “กำไรหรือผลประโยชน์” (得利) ซึ่งภาพที่มักพบเห็นได้โดยทั่วไป ดังเช่น ภาพของเฒ่าประมงกำลังยื่นเบ็ดตกปลา และภาพของเฒ่าประมงที่กำลังจับปลาไว้ในมือใบหน้าเต็มไปด้วยรอยยิ้มอย่างร่าเริง และข้างกายก็มีปลาที่จับได้อยู่เต็มข้อง
ที่มาของภาพมงคล “เฒ่าประมงตกปลา” มาจากความตอนหนึ่งใน “บันทึกจ้านกั๋วเช่อ” (战国策) เล่าถึงเหตุการณ์สมัยนครรัฐ(ชุนชิว-จ้านกั๋ว) เมื่อครั้งกองทัพของรัฐเจ้าจะยกทัพบุกเข้ารัฐเอี้ยน ซูไต้ (苏代) ผู้เป็นขุนนางแห่งรัฐเอี้ยน อาสาไปเจรจาเกลี้ยกล่อมเจ้าฮุ่ยหวัง (赵惠王) กษัตริย์แห่งรัฐเจ้า โดยได้ยกนิทานเรื่องการทะเลาะวิวาทของนกกระสากับหอยมุกที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมอะลุ้มอล่วยกัน หอยมุกงับปากนกกระสาไว้ไม่ยอมคาย นกกระสาจึงว่า “นี่ ๆ เจ้าหอย วันนี้ฝนไม่ตก พรุ่งนี้ฝนก็ไม่ตก เจ้าไม่มีน้ำก็ต้องตายแน่ ๆ” หอยมุกก็ตอบสวนไปว่า “วันนี้ออกไปไม่ได้ พรุ่งนี้เจ้าก็ออกไปไหนไม่ได้เหมือนกัน ตายแน่ ๆ เจ้านกกระสา” ต่างฝ่ายต่างยื้อยันกันอยู่อย่างนั้น หอยมุกไม่ยอมปล่อยปากนกกระสา เพราะกลัวมันจับกิน เจ้านกกระสาก็ไปไหนไม่ได้
จนกระทั้งเฒ่าชาวประมงเดินผ่านมาเห็นเข้า จึงจับทั้งหอยและนกกระสาไปพร้อม ๆ กัน และหัวเราะเยาะในความโง่เขลาอวดดี และการไม่ยอมลดราวาศอกให้แก่กันและกัน จนนำมาสู่ความวิบัติในเวลาต่อมา
ภายหลังได้มีการสร้างรูป “เฒ่าประมงตกปลา” ขึ้นแทนที่จะจับนกกระสาและหอยมุก นานวันเข้าจึงเปลี่ยนไปเป็นภาพของการจับปลาเต็มข้องเพียงอย่างเดียว
นี่เองที่กลายมาเป็นคำคมของจีนว่า “เฒ่าประมงตกปลา” หรือ “เฒ่าประมงได้กำไร(โชคลาภ)” อย่างไม่ตาดฝัน

อ้างอิงจาก : หนังสือ 108 ลัญลักษณ์จีน – ปิยะแสง จันทรวงศไพศาล