ค่ำนี้ เป็นคืนวัน “ ไหว้พระจันทร์ ” ซึ่งในปีนี้( พ.ศ. ๒๕๕๒ ) ตรงกับวันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม , ซึ่งตามปรกติแล้ว ในคืนวันไหว้พระจันทร์ เราจะสามารถมองเห็นดวงจันทร์บนท้องฟ้าที่มีความงดงามเป็นพิเศษที่สุดในรอบปี กล่าวกันว่าในคืนวันไหว้พระจันทร์ ดวงจันทร์จะสุกสว่างและมองเห็นเป็นดวงกลมที่สุดในรอบปี ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนแปดของจีน
วันไหว้พระจันทร์ เป็นคำกล่าวเรียกของคนไทย ที่เรียกตามพิธีการที่คนไทยมองเห็นลูกหลายชาวจีนที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยปฏิบัติกัน กล่าวคือ ได้มีการเซ่นไหว้ดวงจันทร์ในหมู่ชาวจีนในวันเพ็ญขึ้นสิบห้าค่ำเดือนแปดตามระบบการนับแบบจันทรคติของชาวจีน แต่ถ้ามีความเข้าใจในภาษาจีน ก็จะทราบว่า วันไหว้พระจันทร์ ในความหมายของชาวจีนที่แท้จริงนั้น คืออะไร ?
ในภาษาจีน วันเพ็ญเดือนแปด คนจีนเรียกว่า “จงชิว” ( 中秋 ) แปลตามตัวอักษรหมายความว่า “ กลางฤดูใบไม้ร่วง ” ( “จง” แปลว่า กลาง , ตรงกลาง . “ ชิว ” แปลว่า ฤดูใบไม้ร่วง )
ประเทศจีน แบ่ง ฤดูกาล ออกเป็น สี่ฤดู ในหนึ่งปี ได้แก่ “ชุน” ( 春 ฤดูใบไม้ผลิ ) , “ เซี่ย ” ( 夏 ฤดูร้อน ) , “ ชิว ” ( 秋 ฤดูใบไม้ร่วง ) และ “ ตง ” ( 冬 ฤดูหนาว )
วัน จงชิว หรือ วันไหว้พระจันทร์ ก็คือ วันที่นับเป็นช่วงตรงกลางของฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งการนับว่าช่วงไหนเป็นช่วงฤดูใบไม้ร่วง ต้องนับตามแบบจันทรคติ เช่น ปีนี้วันเพ็ญเดือนแปดทางจันทรคติ ตรงกับวันที่ 25 กันยายน ของปีปฏิทินสากล
แล้วทำไมต้องมีพิธีการเซ่นไหว้ดวงจันทร์ จนกลายเป็นประเพณีทุกปีสืบต่อกันมาด้วยล่ะ ?
ตำนานที่มาของประเพณีการไหว้พระจันทร์ในช่วงกลางฤดูไม้ร่วงนั้น มีมากมายหลากหลาย ทั้งเชิง ประวัติศาสตร์ และ เชิง ตำนาน ซึ่งทั้งนี้ก็แล้วแต่จะนำมาบอกกล่าวกัน หากจะหาข้อมูลเกี่ยวกับตำนานวันไหว้พระจันทร์ พิมพ์คำว่าวันไหว้พระจันทร์ ลงใน google ไม่ถึงหนึ่งนาที ก็จะพบตำนานต่าง ๆ มากมายเกี่ยวกับวันไหว้พระจันทร์ หรือเทศกาลวันจงชิว ( วันกลางฤดูใบไม้ร่วง )
ชาวจีนไหว้พระจันทร์ในวันเพ็ญเดือนแปดมาตั้งแต่ช้านาน ไม่ปรากฏหลักฐานชี้ชัดว่าใครเป็นผู้ริเริ่ม ขณะเดียวกัน ก็มีตำนาน และ เรื่องราวต่าง ๆ มากมาย ที่สามารถนำมาอ้างอิงถึงความสำคัญของการไหว้พระจันทร์ในวันเพ็ญเดือนแปดได้ ในสมัยโบราณก่อนประวัติศาสตร์จีนยุคต้น ชาวจีนต่างก็นิยมกราบไหว้เทพจันทราในวันเพ็ญเดือนแปด ครั้นล่วงเลยมาถึงยุคต้นของประวัติศาสตร์จีนในสมัยราชวงศ์โจว ชาวจีนก็นิยมไหว้พระจันทร์ในวันเพ็ญเดือนแปด เพื่อเป็นการต้อนรับสู่การย่างเข้าสู่ดูหนาว ซึ่งในสมัยราชวงศ์โจวนี่เอง ประเพณีการไหว้พระจันทร์เริ่มเป็นที่แพร่หลาย และมีเอกลักษณ์ของวันไหว้พระจันทร์ชัดเจนยิ่งขึ้น ได้แก่เครื่องเช่นไหว้ต่าง ๆ ซึ่งเครื่องเซ่นไหว้ที่เด่นชัดที่สุด และขาดเสียไม่ได้ในพิธีไหว้พระจันทร์ คือ ขนมไหว้พระจันทร์ และแตงโม
ในยุคราชวงศ์โจว เป็นยุคของนักปราชญ์ ( ราชวงศ์โจว อยู่ในช่วง 2500 ปี นับจากปีปัจจุบัน ) นักปราชญ์จีนสมัยโบราณ มักนำความคิด แนวปรัชญา นำมาสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน และสอนให้ปฏิบัติต่อกันมาเป็นประเพณี เสมอ ๆ โดยที่ชาวบ้านไม่รู้ความหมายที่แท้จริง หากแต่การปฏิบัติตามย่อมเกิดผลดี ชาวบ้านล้วนศรัทธราและให้ความร่วมมือ ในคืนวันไหว้พระจันทร์วันเพ็ญเดือนแปด แท้จริงแล้ว เป็นวันครอบครัวของชาวจีน ในสมัยราชวงศ์โจวนั่นเอง
ในคืนวันดังกล่าว พระจันทร์จะเต็มดวงและสวยที่สุดในรอบปี สมาชิกในครอบครัวจะมารวมตัวกันที่บ้าน สมาชิกในครอบครัวคนใดที่ทำงานต่างถิ่น ต่างหมู่บ้าน หรือแยกครอบครัวอยู่ ต่างเมือง เมื่อถึงวันเทศกาลเพ็ญเดือนแปด ก็จะเดินทางกลับมาที่บ้านเกิด ตามคำกล่าวของนักปราชญ์จีนในสมัยนั้นว่า “ ดวงจันทร์กลมเต็มดวงมากที่สุด สมาชิกในครอบครัวก็กลมเกลียวสามัคคีที่สุด ดั่งความกลมของดวงจันทร์ ” ในคืนวันดังกล่าว ยามเที่ยงคืนคาบเกี่ยวกับวันใหม่ หลังจากสมาชิกในครอบครัวทำพิธีไหว้ดวงจันทร์เสร็จแล้ว ต่างก็ร่วมกันรับประทานขนมไหว้พระจันทร์ เพื่อแสดงถึงความสามัคคี ความกลมเกลียวระหว่างมวลสมาชิกในครอบครัว ขนมไหว้พระจันทร์นั้น จะต้องนำมาหั่นแบ่งให้เท่ากับจำนวนคนในครอบครัวอย่างพอดี เกินหรือขาดก็ไม่ได้ และแต่ละชิ้นต้องมีขนาดที่เท่ากันด้วย ขนมไหว้พระจันทร์จึงเป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคี ความกลมเกลียว ในครอบครัวนั่นเอง ดังนั้น รูปลักษณะของขนมไหว้พระจันทร์ จะต้องทำเป็นก้อนวงกลมเท่านั้น ถึงจะให้ความหมายดังกล่าว
ปัจจุบันประเพณีวันไหว้พระจันทร์มีความหมายเปลี่ยนไป ทั้งชาวจีนในประเทศไทย และชาวจีนในประเทศจีนเอง ก็ให้ความสำคัญของวันเพ็ญเดือนแปด ในเชิงประเพณี แต่ไม่ยึดถือความหมายดั้งเดิม ขนมไหว้พระจันทร์มีการออกแบบเป็นรูปสี่เหลี่ยม ซึ่งไม่ได้มีความหมายถึงความกลมเกลียว ความสามัคคี ที่ประเทศจีนวัยรุ่นชาวจีนให้ความสำคัญกับวันไหว้พระจันทร์ไม่ต่างไปกับวันแห่งความรัก กลายเป็นวันที่จะนัดแนะกันไปเที่ยวยามค่ำคืน กลายเป็นกิจกรรมอื่น ๆ ที่มิใช่กิจกรรมแห่งวันครอบครัวอีกต่อไป
ขนมไหว้พระจันทร์ จะต้องมีไส้หวาน หรือสอดไส้ด้วยธัญพืชที่มีรสหวานเท่านั้น เพราะฤดูไม้ร่วงกำลังจะผ่านไป กำลังจะเข้าสู่ฤดูหนาวอันแสนลำบากในการดำรงชีวิตของชาวจีน การร่วมรับประทานของหวานในวันไหว้พระจันทร์กับครอบครัว เป็นนัยแห่งความหวานชื่น ความสุข ความอุดมสมบูรณ์ ก่อนที่จะเข้าสู่ภาวะแห่งความหนาวเหน็บ และขาดแคลนอาหาร สำหรับปัจจุบันนี้ ขนมไหว้พระจันทร์ มีทั้งไส้หมูแฮม ไส้หมูแดง ไส้หมูหยอง และไส้ต่าง ๆ ที่มีรสเค็ม รสเปรี้ยว ซึ่งไม่ได้ให้ความหมายใด ๆ มากไปกว่า “ขนม ” หรือ “ Moon Cake ” ที่รับประทานกันเพื่อความอร่อยเพียงเท่านั้น
ประเพณีวันไหว้พระจันทร์ เคยถูกนำมาใช้ในกิจกรรมทางการเมืองของจีนในอดีต ที่สำคัญคือการกู้ชาติจีนจากชาวมองโกล แผ่นดินจีนเคยถูกชาวมองโกลเข้ามาปกครอง และตั้งราชวงศ์ขึ้นมา ซึ่งก็ถือเป็นราชวงศ์หนึ่งในประวัติศาสตร์จีนด้วยเช่นกัน ได้แก่ราชวงศ์หยวน ชาวมองโกลปกครองคนจีนอย่างเข้มงวด การต่อต้านการปกครองจึงมีมากในหมู่ชาวบ้าน ในหมู่ประชาชนที่เป็นคนรากหญ้า ( สมัยนั้นชนชั้นเจ้า ขุนนาง และพ่อค้า ที่ยอมสวามิภักดิ์ต่อมองโกล ต่างได้ดิบได้ดีกันถ้วนหน้า ) ประชาชนระดับรากหญ้าได้รับความลำบากทุกข์เข็ญ ก็เลยรวมตัวกันเพื่อต่อต้านชาวมองโกล มีชาวนาเป็นผู้นำ ชื่อ จูหยวนจาง ผู้นำต่อต้านมองโกล ได้อาศัยวันไหว้พระจันทร์ ซึ่งเป็นวันประเพณีที่แสดงออกถึงความสามัคคี ประกาศต่อต้านการปกครองของมองโกล โดยนำกระดาษที่เขียนข้อความนัดแนะกำหนดการขับไล่มองโกล ยัดใส่ไว้ในขนมไหว้พระจันทร์ เมื่อชาวบ้านได้รับขนมไหว้พระจันทร์ ก็ทราบกำหนดการที่จะร่วมมือกันขับไล่ชาวมองโกลออกจากแผ่นดินจีน อย่างนี้ก็สามารถเรียกได้ว่าเป็น “ขนมไหว้พระจันทร์เมล์ Moon Cake Mail ” เมื่อถึงเวลาที่กำหนด ประชาชนก็ลุกฮือขึ้น ขับไล่มองโกลออกจากแผ่นดินจีนอย่างประสบความสำเร็จ ผู้นำประชาชนชื่อ จูหยวนจาง ก็ได้เป็นกษัตริย์ ปกครองแผ่นดินจีน ตั้งราชวงศ์ใหม่ ชื่อว่า ราชวงศ์หมิง
นอกจากนี้ ความหมายของวันไหว้พระจันทร์ มีผู้สรุปไว้สั้น ๆ ดังนี้
เทศกาลไหว้พระจันทร์
ชื่อเรียก เทศกาลจงชิว เทศกาลเดือนแปด เทศกาลความสามัคคี
วิถีปฏิบัติในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์
ครอบครัวอยู่รวมกันพร้อมหน้า ชมจันทร์ และทานขนมไหว้พระจันทร์
ตำนานเทศกาลในหมู่ชาวบ้าน
เทพธิดา ฉางเอ๋อร์ ผู้เลอโฉม ไม่พอใจในความประพฤติของ โฮ้วอี้ ผู้เป็นสามี ที่มีความโหดร้ายต่อประชาชน ในคืนวันเพ็ญเดือนแปด จึงได้ขโมย ยาอายุวัฒนะ ที่โฮ้วอี้ได้เป็นของประทานมาจากเจ้าแม่ซีหวังหมู่ เมื่อธิดาฉางเอ๋อ กินยาอายุวัฒนะแล้ว ร่างก็เบาและล่องลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า แล้วไปสถิตอยู่ที่บนดวงจันทร์ โฮ้วอี้ มีความเสียใจ และผิดหวังเป็นอย่างมาก ทุกคืนวันเพ็ญเดือนแปดของทุกปี โฮ้วอี้ จะคอยเฝ้ามองดวงจันทร์ เพื่อปารถนาจะเห็น ธิดาฉางเอ๋อร์ และได้อธิษฐานอ้อนวอน เพื่อขอให้ได้อยู่พร้อมหน้าสามีภรรยากันอีกครั้ง เรื่องนี้เลื่องลือสู่ประชาชน ชาวบ้านจึงถือว่า วันเพ็ญเดือนแปด เป็นวันที่ครอบครัวต้องอยู่รวมกันพร้อมหน้า เป็นวันที่จะอธิษฐานเพื่อให้ครอบครัวมีความสามัคคี
ความเห็นของนักวิชาการ
เทศกาลไหว้พระจันทร์ คือ ประเพณีเริ่มต้นของบรรพบุรุษ ที่ให้ชนรุ่นหลังได้ให้ความเคารพและให้ความสำคัญต่อดวงจันทร์ ที่มีอิทธิพลทางธรรมชาติต่อมนุษย์โลก
เรื่องเล่าเกี่ยวกับวันไหว้พระจันทร์ มีมากมาย ขออนุญาตไม่นำเสนอ แต่ขออวยพรให้ผู้อ่านทุกท่าน มีความสุขในวันไหว้พระจันทร์ และมีความสามัคคีรักใคร่กลมเกลียวกันในครอบครัว ดุจดังความกลมเกลียวของดวงจันทร์
ชะภิพร เกียรติคชาธาร