เจ้าแม่กวนอิม 观世音
“เจ้าแม่กวนอิม” (观世音、观音) เป็นพระโพธิสัตว์ของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่มีผู้รู้จักและศรัทธามากที่สุด เป็นพระโพธิสัตว์ที่ได้รับการกราบไหว้บูชาจากชาวจีนทั่วทุกมุมโลก และแพร่หลายไปอย่างกว้างขวางในทุก ๆ ที่ที่มีชาวจีนอาศัยอยู่ ในคตินิยมทางสัญลักษณ์วัฒนธรรมมงคลของจีน องค์เจ้าแม่กวนอิม คือ พระผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรักความเมตตาต่อสรรพสัตว์ เป็นพระผู้เปี่ยมด้วยความกตัญญู และเป็นสัญลักษณ์แห่งเมตตามหาการุณย์เพื่อโปรดสัตว์ให้หลุดพ้นจากห้วงทุกข์ ดังคำปณิธานของพระองค์ที่ว่า “หากยังมีสัตว์ตกทุกข์ได้ยากอยู่ ก็จะไม่ขอบรรลุพุทธภูมิ”
อักษรคำว่า “พระโพธิสัตว์” ในภาษาจีนเรียกว่า “ผูซ่า (菩萨)” ส่วนในสำเนียงแต้จิ๋วออกเสียงว่า “ผ่อสัก” ดังนั้น พระนามของเจ้าแม่กวนอิมจึงมีอยู่ด้วยกันหลายชื่อ ส่วนใหญ่แล้วในสำเนียงจีนกลางจะนิยมเรียกว่า “กวนอินผูซ่า(观音菩萨)” หรือ “กวนซื่ออินผูซ่า(观世音菩萨)” นอกจากนี้ ยังมีอีกบางชื่อที่มีเรียกกัน ได้แก่ “กวนจื้อไจ้ผูซ่า(观自在菩萨)” และ “กวงซื่ออินผูซ่า(光世音菩萨)”
แต่กระนั้นก็ตาม สำหรับชาวไทยแล้วจะเรียก เจ้าแม่กวนอิม หรือ พระโพธิสัตว์กวนอิม
เดิมทีนั้นพระนามเดิมที่เรียกเจ้าแม่กวนอิมจะเรียกว่า “กวนซื่ออิน หรือ กวนซีอิมในภาษาจีนแต้จิ๋ว (观世音)” แต่เนื่องจากในสมัยราชวงศ์ถัง อักษรคำว่า “ซื่อ世” ตรงกับชื่อเดิมของถังไท้จงฮ่องเต้ คือ หลี่ซื่อหมิน(李世民)จึงได้เลี่ยงมาเรียกย่อ ๆ ว่า “กวนอินหรือกวนอิมในภาษาจีนแต้จิ๋ว观音”
ในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่แพร่หลายในจีน , ญี่ปุ่น ,เกาหลี คำว่า “พระโพธิสัตว์(菩萨)” คิอ ผู้ซึ่งตั้งจิตแน่วแน่ในการบำเพ็ญเพียรเพื่อที่จะเป็นพระพุทธเจ้าต่อไปในอนาคต จึงมีการสร้างสมบุญบารมีเพื่อโปรดสัตว์โลกให้พ้นจากทุกข์และเรียกกันว่า “พระโพธิสัตว์” คติเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์นี้มาจากลัทธิมหายาน ที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย เรียกกันในสันสกฤตว่า “พระอวโลกิเตศวร (Avalokitesvara) ซึ่งแปลว่า “พระผู้เฝ้ามองดูด้วยความเมตตากรุณา” หรือ “พระผู้ทรงสดับฟังเสียงร้องไห้ของสัตว์โลก”
ดังนั้น พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ของอินเดียนั้น ก็คือองค์เดียวกันกับ “พระกวนอิมโพธิสัตว์” หรือ “เจ้าแม่กวนอิม” พุทธศาสนิกชนให้ความเคารพนับถือด้วยความซาบซึ้งในน้ำพระทัยแห่งมหาการุณย์ ที่พระองค์ทรงโปรดสัตว์ทั่วทั้งไตรภูมิ ให้พ้นจากกองทุกข์
ในตำนานพื้นบ้านของจีน สันนิษฐานว่าอาจมีเรื่องเล่าขานกันมาตั้งแต่ราชวงศ์ซ่งเหนือ (เป่นซ่ง) นั้นคือ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์(พระกวนอิมโพธิสัตว์)ในชาติสุดท้ายนั้นมีพระนามเดิมว่า “เจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน” ทรงจุติเป็นพระราชธิดาองค์ที่ 3 ของพระเจ้าเมี่ยวจวง หรือเมี่ยวจวงหวัง (妙庄王)กษัตริย์ผู้โหดร้ายทารุณ ต่อไพรฟ้า ข้าแผ่นดิน พระองค์ทรงมีพระราชธิดาสามพระองค์ได้แก่ เจ้าหญิงเมี่ยวอิน (妙因公主)เจ้าหญิงเมี่ยวเอวี๋ยน (妙缘公主)และเจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน (妙善公主)
ครั้นเมื่อพระราชธิดาทั้ง 3 เจริญพระชันษาพร้อมที่จะออกเรือน องค์หญิงเมี่ยวอินและองค์หญิงเมี่ยวเอวี๋ยนต่างปรารถนาที่จะเข้าสู่พิธีวิวาห์ คงมีแต่องค์หญิงเมี่ยวซ่านที่ไม่พึงปรารถนาในสิ่งใด ๆ นอกเหนือไปจากพระเมตตาที่ทรงการุณย์ช่วยเหลือสรรพสัตว์ ทรงถือศีลกินเจ และเรียนรู้ในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา ทำให้พระราชบิดากริ้วโกรธที่ขัดพระทัย จึงลงโทษทัณฑ์ทรมานพระธิดาเมี่ยวซ่าน นานัปการ จงถึงขั้นสั่งประหารชีวิต แต่กระนั้นก็ไม่อาจกระทำสิ่งใดระคายเคืองพระธิดาเมี่ยวซ่านได้
ต่อมา เจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน ได้ถวายตนเป็นพุทธมามกะและทรงหนีออกจากวังเพื่อออกบวช จากนั้นจึงได้มุ่งมั่นประกอบคุณงามความดีและบำเพ็ญศีลภาวนา
ในเวลาต่อมา พระเจ้าเมี่ยวจวง ต้องประสบเคราะห์กรรมที่ได้ทรงกระทำไว้ ทำให้ทรงป่วยด้วยโรคร้ายแรงที่ไม่มีตัวยาใดรักษาได้ นอกจากพระโอสถที่ต้องปรุงจากดวงตาและแขนของผู้ที่เป็นทายาทเท่านั้น ซึ่งพระธิดาทั้ง 2 พระองค์ไม่มีผู้ใดยินยอมกระทำเช่นนั้น เมื่อข่าวนี้ล่วงรู้ถึงเจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน พระองค์จึงหวนกลับเข้าวัง และให้อภัยต่อการกระทำของพระบิดา และทรงกระทำในสิ่งที่ไม่มีผู้ใดกล้ากระทำนั้นคือ ทรงยอมสละดวงตาทั้งสอง และแขนทั้งสองข้าง เพื่อใช้ปรุงเป็นพระโอสถรักษาพระบิดา จนกระทั้งพระเจ้าเมี่ยวจวง ฟื้นคืนเป็นปกติ
กล่าวกันว่า ความกตัญญูของเจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน สร้างความตื้นตันให้แก่โลกมนุษย์และสรวงสวรรค์ เมื่อพระองค์ทรงบรรลุมรรคผลเป็นพระโพธิสัตว์กวนอิม องค์ศากยมุณี(พระสัมมาสัมพุทธเจ้า)จึงประธานคืนดวงตาพันดวง และแขนพันข้างแก่พระองค์ อันเป็นที่มาของปางปาฏิหาริย์ที่เรียกว่า “เจ้าแม่กวนอิมพันเนตร(千手千眼观音)”
เจ้าแม่กวนอิมพันเนตร(千手千眼观音)
สำหรับรูปประติมากรรมเจ้าแม่กวนอิมในลักษณะของเพศหญิงที่เป็นที่นับถือกันในปัจจุบันนั้น แท้จริงแล้ว เมื่อครั้งศาสนาพุทธแรกเผยแผ่จากอินเดียสู่จีนนั้น รูปลักษณ์ของพระอวโลกิเตศวร(พระโพธิสัตว์กวนอิม)ก็เป็นภาพของพระโพธิสัตว์เพศชายเช่นเดียวกับในอินเดีย สันนิษฐานว่า คติเกี่ยวกับรูปเคารพพระโพธิสัตว์กวนอิม น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยสามก๊กและราชวงค์จิ้น จนกระทั้งถึงสมัยหนานเป่ยเฉา หลักฐานสำคัญก็คือ รูปวาดจิตรกรรมฝาผนังและรูปปฏิมากรรมแกะสลักพระโพธิสัตว์กวนอิมที่ปรากฏอยู่ในถ้ำม่อเกา (莫高)ที่สร้างขึ้นในช่วงหนานเป่ยเฉานั้น เป็นภาพของพระอวโลกิเตศวร(พระโพธิสัตว์กวนอิม) ที่มีลักษณะแบบเพศชาย มีริมฝีปากหนาและมีหนวดเครา
รูปวาดจิตรกรรมฝาผนังพระโพธิสัตว์กวนอิมที่ปรากฏอยู่ในถ้ำม่อเกา (莫高)
ส่วนเหตุผลของความเปลี่ยนแปลงจากบุคลิกลักษณะของพระอวโลกิเตศวร(พระโพธิสัตว์กวนอิม)ที่เดิมเป็นเพศชายจนแปรเปลี่ยนเป็นเพศหญิงนั้น นักประติมานวิทยา สันนิษฐานว่า น่าจะมาจากเหตุผล 2 ประการ
ประการแรก นั้นคือ พระโพธิสัตว์กวนอิมเป็นผู้ทรงโปรดสัตว์โลก ผู้ตกทุกข์ได้ยาก และในสมัยโบราณนั้น ผู้หญิงมักได้รับการกดขี่ข่มเหงและทุกข์ทรมานมากกว่าเพศชาย จึงเกิดภาพลักษณ์ในด้านที่เป็นเพศหญิง เพื่อช่วยเหลือสตรีให้หลุดพ้นจากบ่วงกรรม
ประการที่สอง นั้นคือ ผู้หญิงเป็นเพศที่มีความอ่อนโยนและมีจิตใจที่ดีงามกว่าเพศชาย โดยเฉพาะความรักของผู้เป็นมารดา อันเป็นสัญลักษณ์ของความเมตตาการุณย์ต่อบุตร
ดังนั้น จึงเชื่อกันว่า นี้คือเหตุเปลี่ยนแปลงของภาพแห่งลักษณะพระโพธิสัตว์กวนอิมที่แปรเปลี่ยนรูปลักษณ์เป็นเพศหญิงในที่สุด
ในด้านศิลปกรรมจีน ได้สะท้อนสัญลักษณ์ของพระโพธิสัตว์กวนอิมที่แสดงถึงความเมตตากรุณา อาทิ ภาพเจ้าแม่กวนอิมยืนประทับบนหลังมังกรกลางมหาสมุทร , ภาพเจ้าแม่กวนอิมพรมน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์จากกิ่งหลิวในแจกัน , ภาพเจ้าแม่กวนอิมประทับนั่งกลางป่าไผ่ , ภาพเจ้าแม่กวนอิมปางประธานบุตร และภาพเจ้าแม่กวนอิมพันมือ เป็นต้น
เจ้าแม่กวนอิมยืนประทับบนหลังมังกรกลางมหาสมุทร ภาพเจ้าแม่กวนอิมพรมน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์จากกิ่งหลิวในแจกัน
แต่ไม่ว่าจะแสดงภาพแห่งเจ้าแม่กวนอิมในลักษณะใด พระองค์ก็ยังทรงเป็นสัญลักษณ์ของพระโพธิสัตว์ผู้เปี่ยมด้วยเมตตากรุณา ที่ประทับอยู่กลางใจของผู้ศรัทธาจนถึงปัจจุบัน
อ้างอิงจาก : หนังสือ 108 ลัญลักษณ์จีน – ปิยะแสง จันทรวงศไพศาล