วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2553 www.jiewfudao.com
พระกษิติครรภโพธิสัตว์ (Ksitigarbha Bodhisattva) หรือ ตี้จั้งผูซ่า(地藏菩萨) ในสำเนียงแต้จิ๋ว ตี่จั่งอ๊วง มาจากพระนามเต็มว่า ตี้จั้งหวางผูซ่า (地藏王菩萨)หรือ “ต้าเอวี้ยนตี้จั้งหวางผูซ่า”(大愿地藏王菩萨) แปลว่า พระโพธิสัตว์ผู้เป็นครรภ์แห่งแผ่นดิน มีความหมายแฝงว่า พระองค์ได้ทรงสถิตอยู่ใต้ผืนพื้นโลกใบนี้ เป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งที่ชาวจีนให้ความเคารพนับถือและศรัทธาเป็นอย่างมาก เป็นรองแต่เพียงพระอวโลกิเตศวร(กวนอิม)เท่านั้น
สาเหตุที่ทำให้พระกษิติครรภโพธิสัตว์(ตี้จั้งผูซ่า) เป็นที่นับถืออย่างกว้างขวางนั้น มาจากเรื่องราวของปณิธานของพระองค์ที่มีจารึกไว้ใน “พระสูตรปณิธานแห่งพระกษิติครรภโพธิสัตว์” หรือ “ตี้จั้งผูซ่าเปิ่นเอวี้ยนจิง”(地藏菩萨本愿经) ที่ทรงแผ่เมตตาธรรมต่อเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหกในนรกภูมิ พระองค์รู้สึกเสียพระทัยเป็นอย่างยิ่งที่ไม่อาจช่วยเหลือมิให้สรรพชีวิตหลงเดินในทางผิด จนตกตายไปสู่นรกภูมิเช่นนั้น พระกษิติครรภโพธิสัตว์จึงได้ยินยอมอยู่บนโลกมนุษย์เพื่อแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่เหล่าสัตว์โลกในนรกภูมิ ทรงมีความปรารถนาจะให้แสงแห่งพระธรรมชี้นำทางสว่างให้แก่สัตว์ทั้งปวง โดยมีมหาปณิธานอันยิ่งใหญ่ว่า “หากตราบใดที่นรกยังไม่ว่างเปล่า ตราบนั้นก็จะไม่ขอบรรลุพุทธภูมิ”
พระมหาปณิธานของท่านย่อมเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า อันสัตว์โลกนั้น คนกระทำความชั่วมีอยู่มากมาย เมื่อตายไปแล้วนรกภูมิก็จะมีจำนวนสัตว์นรกมากยิ่งกว่าผู้ที่ได้ขึ้นสวรรค์ การจะมาช่วยสัตว์นรกที่มีจำนวนมากนี้ จึงเป็นเรื่องยากยิ่งกว่าความยากใด ๆ
กล่าวกันว่า พระมหาปณิธานของพระองค์ คล้ายคลึงกับพระอวโลกิตศวร(กวนอิม) เป็นอย่างมาก ต่างกันตรงที่ พระอวโลกิเตศวร(กวนอิม)ทรงเปี่ยมไปด้วยพระมหาเมตตาด้วยหวังจะช่วยสัตว์โลกผู้ตกทุกข์ได้ยากบนโลกให้ได้หลุดพ้น แต่พระกษิติครรภโพธิสัตว์จะการุญต่อสัตว์ในนรกภูมิให้รอดพ้นจากกองทุกข์ทรมาน ดังนั้น ด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาพระองค์จึงทำให้พระกษิติครรภโพธิ์สัตว์เป็นที่ศรัทธาของปวงชน จนเป็นสัญลักษณ์ของพระโพธิสัตว์ผู้มีมหาเมตตามาโปรดแก่สัตว์นรกให้พ้นจากบ่วงกรรม
ดังนั้น ในพิธีศพของชาวจีนที่เรียกกันว่า “พิธีกงเต๊ก” จึงต้องมีรูปประดิษฐานของพระกษิติครรภโพธิสัตว์ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะเชื่อกันว่า ด้วยพระมหาเมตตาของพระองค์จะช่วยนำทางแห่งธรรมให้แก่ดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิต ทำให้ดวงวิญญาณไปสู่ภพภูมิที่ดี ไม่ต้องตกขุมนรกอันแสนทุกข์ทรมาน
ในขณะเดียวกัน ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระกษิติครรภโพธิสัตว์นั้นไม่ได้หมายความว่าพระองค์จะโปรดช่วยเฉพาะคนที่ตายไปแล้วเท่านั้น หากแต่พระองค์ย่อมช่วยทั้งคนที่ยังมีชีวิตอยู่ให้ตั่งมั่นอยู่ในความดี และผู้ตายไปแล้วไม่ให้หลงเหลืออยู่ในขุมนรกอีกต่อไป
สัญลักษณ์รูปเคารพขององค์พระกษิติครรภโพธิสัตว์จะมีอยู่ด้วยกันสองแบบ แบบแรกเป็นลักษณะของภิกษุหนุ่มที่เพิ่งออกบวช มีศีรษะที่ล้านเลี่ยน ทำให้แลดูมีใบหน้าที่อ่อนเยาว์ อันเปรียบเสมือนดั่งการตัดเรื่องทางโลกโดยสิ้นแล้ว พระหัตถ์ขวามักถือไว้ด้วยไม้เท้าพระธรรม เป็นความหมายว่าได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์เป็นสรณะ ส่วนแบบที่สองนั้นเป็นแบบพระโพธิสัตว์ปางประทับนั่ง สวมหมวกภิกษุจีนที่เรียกว่า “มาลาห้าพุทธะ” พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท่าพระธรรม
ตำนานเกี่ยวกับพระกษิติครรภโพธิสัตว์มีเล่าไว้แตกต่างกัน บ้างว่า แต่เดิมเมื่อชาติปางก่อน ท่านเป็นสตรี ถือกำเนิดเป็นพราหมณีบุตรี (Brahmin maiden) มารดาของนางเมื่อยังมีชีวิตอยู่ได้ก่อกรรมทำเข็ญไว้มากมาย ต่อเมื่อตายไป ดวงวิญญาณก็ได้ลงสู่นรกภูมิ ด้วยความกตัญญูของพราหมณีบุตรีที่ปรารถนาจะไถ่บาปให้แก่มารดา นางจึงเพียรสร้างบุญญาบารมี ทำบุญบริจาคทานเพื่อส่งผลกุศลบุญไปให้แก่มารดา โดยตั้งจิตว่า แม้จะต้องแลกด้วยชีวิต ขอเพียงได้ช่วยมารดาก็ยินดี คำอธิษฐานของนางล่วงรู้ไปถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงชี้แนะให้นางเพียรสร้างกรรมดีอย่าละเลิก จนกระทั่งวันหนึ่ง พราหมณีบุตรีก็ได้นั่งสมาธิจนดวงวิญญาณได้ลงไปถึงนรกภูมิและทราบว่า กุศลผลบุญต่าง ๆ ที่ได้ทำไว้นั้น ช่วยส่งผลให้แก่วิญญาณของมารดาพ้นจากขุมนรกไปสู่สุคติแล้ว ตั้งแต่นั้นมา พราหมณีบุตรีจึงตั้งจิตขอบำเพ็ญบุญญาบารมีสืบไปจนชั่วชีวิต จนกระทั้งในชาติต่อมาจึงได้กำเนิดมาเป็นองค์พระกษิติครรภโพธิสัตว์
ส่วนอีกตำนานหนึ่งกล่าวว่า พระกษิติครรภโพธิสัตว์นั้น เดิมเป็นเจ้าชายนามว่า คิม เคียว กัก (KIM KIAOKAK) แห่งอาณาจักรชิลลา ได้ออกบวชเมื่ออายุ 24 ปี โดยได้ออกเดินทางแสวงหาความสงบในป่าเขา จนกระทั่งถึงแถบที่ตั้งของภูเขาจิ่วหวาซานในประเทศจีน ได้ทรงเทศนาสั่งสอนประชาชนให้ตั่งมั่นทำแต่กรรมดีจนเป็นที่เลื่องลือและศรัทธาจากมหาชน กล่าวกันว่า ท่านได้ละสังขารเมื่ออายุ 99 พรรษา และร่างนั้นก็อยู่ในท่าประทับนั่งสมาธิโดยไม่เน่าเปื่อย บรรดาชาวบ้านจึงพร้อมใจกันศรัทธาและสร้างวัดเพื่อบูชาพระองค์สืบไป โดยเรียกนามของพระองค์ว่า พระกษิติครรภโพธิสัตว์ หรือในภาษาเกาหลีเรียกว่า พระชีจัง (JIJANG)
ในประเทศจีนเชื่อกันว่า พระกษิติครรภโพธิสัตว์สถิตอยู่ ณ เทือกเขาจิ่วหวาซาน ซึ่งเป็นหนึ่งใน 4 ขุนเขาศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานปัจจุบันเทือกเขาจิ่วหวาซานตั้งอยู่ในเขตอำเภอชิงหยาง มณฑลอานฮุย กล่าวกันว่า ณ เทือกเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ในอดีตนั้น เคยเป็นที่ตั้งของวัดวาอารามมากกว่า 300 แห่ง และเป็นศาสนสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของพระพุทธศาสนาในประเทศจีนปัจจุบัน
อนึ่ง ในทางพุทธศิลป์ฝ่ายมหายานนั้น พระกษิติครรภโพธิ์สัตว์เป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญที่นิยมสร้างเป็นประติมากรรมแบบองค์สาม โดยตั้งประดิษฐานเรียงกันคือ พระศากยมุนีพุทธเจ้าเป็นพระประธานที่อยู่กึ่งกลาง ทางเบื้องซ้ายเป็นพระอวโลกิเตศวร(กวนอิม) และเบื้องขวาเป็นพระกษิติครรภโพธิสัตว์ การจัดเรียงพระพุทธรูปแบบนั้น เรียกกันว่า ซวอผอซานเสิ้ง(娑坡三圣)
อ้างอิงจาก :
- หนังสือ 108 สิ่งมิ่งมลคลจีน – ปิยะแสง จันทรวงศไพศาล
- http://cn.netor.com/know/netorknow.asp?tclassid=182
- www.ytrip.com/wiki/jiu-hua-shan4...ge/15031
- www.shijian.org/n5328c5.aspx
- buddha.goodweb.cn/music/musictxt...zang.asp
- www.515888.net/my/ShowNews.asp%3...ID%3D246
- www.waheaven.com/WH36.html
- www.nipic.com/show/4/85/47541a63...d23.html
- www.nipic.com/show/2/48/37ffee31...8ae.html
- www.wujue.com/zonghe/fszy/zhenya...938.html
- fojing.net/foyuan/836-2.htm
- bjyy566.blog.163.com/blog/static...5941725/