“น้ำเต้า”(葫芦) หรือ “หูหลู” ในภาษาจีน บ้างก็เรียกว่า “ขวดน้ำเต้า” ทั้งนี้เพราะน้ำเต้าเป็นภาชนะรูปทรงพิสดารและแปลกประหลาดชนิดหนึ่งของจีน
ลักษณะของน้ำเต้าจะมีรูปทรงกลมป้อมตรงกลางป่อง และจะมีอยู่สองชั้นบนและล่าง มีส่วนปลายเรียวเพื่อสะดวกในการเท ริน จัดเป็นภาชนะโบราณที่มีประวัติสืบทอดต่อ ๆ กันมาอย่างยาวนานโดยแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างใด ๆ เลย น้ำเต้าในวัฒนธรรมจีนจึงเป็นสัญลักษณ์มงคลชนิดหนึ่ง ว่ากันว่าข้างในบรรจุน้ำทิพย์แห่งความเป็นอมตะไว้ ดังนั้น การแขวนน้ำเต้าไว้จึงมีความหมายถึงการเก็บกักความเคราะห์ร้ายไม่ให้มาเยือน และยังมีความหมายในการช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บอีกด้วย ในหลักฮวงจุ้ยนั้นนิยมแขวนน้ำเต้าไว้ในตำแหน่งสุขภาพ เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและไร้ซึ่งโรคภัยอีกด้วย
ในสมัยราชวงศ์ฮั่น บันทึกหลี่เอวี้ยจื้อ (礼乐志) ได้กล่าวถึงน้ำเต้าว่า เดิมเป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่มีเสียงดังกังวาน เช่นเดียวกับตำราทางการแพทย์จีนโบราณ น้ำเต้าจัดเป็นภาชนะบรรจุยาสมุนไพร แพทย์จีนนิยมใส่ตัวยาสมุนไพรต่าง ๆ ลงไปในน้ำเต้า แล้วเขย่าให้คลุกเคล้าอยู่ภายใน เมื่อตัวยาต่าง ๆ ผสมผสานรวมกันแล้วก็จะใช้ขวดน้ำเต้านั้นเป็นที่เก็บรักษาตัวยาต่อไป อีกประการหนึ่ง เมื่อนำเชือกมาร้อยน้ำเต้าแล้วสะพายแขวนไว้กับตัว ก็จะกลายมาเป็นเครื่องใช้ที่จำเป็นมากที่สุดในการเดินทางไกลของคนจีนในสมัยโบราณ นั้นคือใช้เป้นที่เก็บน้ำหรือเก็บสุราไว้อยู่ภายใน เชื่อกันว่า สุราที่เก็บในขวดน้ำเต้าจะมีรสชาติกลมกล่อมมากเป็นพิเศษ
คติชาวบ้านเชื่อกันว่า รูปทรงกลมป้อมทั้งสองของขวดน้ำเต้านั้น เป็นการจำลองย่อส่วนระหว่างโลกมนุษย์และสวรรค์ที่มาบรรจบกันกึ่งกลางน้ำเต้า หากเปิดฝาออกมาจะสามารถใช้เก็บกักปีศาจร้ายได้ ดังที่ปรากฏอยู่ในนิทานพื้นบ้านหลายต่อหลายเรื่อง
หลีเถียไกว่ (ลี้ทิไกว้)
ดังนั้น ภาพลักษณ์ของน้ำเต้าจึงมักจะอยู่คู่กับนักพรตหรือเต้าหยินในลัทธิเต๋าเสมอ ถือกันว่าน้ำเต้านั้นเป็นของใช้ประจำเซียนผู้วิเศษ โดยเฉพาะหลี่เถียไกว่(ลี้ทิไกว้) ผู้เป็นหนึ่งในโป๊ยเซียน ข้างกายจะมีน้ำเต้าสะพายติดตัวอยู่เสมอ และเป็นของวิเศษประจำกายจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของเซียนผู้นี้ไปในที่สุด พอถึงวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติจีนซึ่งก็คือเทศกาลตวนอู่ เพื่อระลึกถึงเซียนหลี่เถียไกว่ชาวบ้านจึงมักนำขวดน้ำเต้ามาแขวนไว้ที่หน้าบ้านในวันนั้น
อ้างอิงจาก : หนังสือ 108 ลัญลักษณ์จีน – ปิยะแสง จันทรวงศไพศาล