หน้าที่ของเครื่องหมายวรรคตอน 标点符号 
标点符号
เครื่องหมายวรรคตอนถือเป็นส่วนประกอบสำคัญในภาษาจีน มีหน้าที่ช่วยให้เข้าใจโครงสร้าง มาลา และความหมายของประโยคได้ดีขึ้น เครื่องหมายวรรคตอนแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ วรรคตอนและเครื่องหมาย
วรรคตอนประกอบด้วยเครื่องหมายต่าง ๆ 8 ชนิด
1. เครื่องหมายอัญประกาศทั้งคู่และเดี่ยว (引号)
2. เครื่องหมายนขลิขิต (括号)
3. เครื่องหมายไข่ปลา (省略号)
4. เครื่องหมายเส้นคั่นยาว (破折号)
5. เครื่องหมายเชื่อมต่อ (连接号)
6. เครื่องหมายชื่อหนังสือ (书名号)
7. เครื่องหมายคั่น (间隔号)
8. เครื่องหมายเน้นข้อความ (着重号)
ส่วนเครื่องหมาย มีด้วยกันทั้งสิ้น 7 ชนิด คือ
1. มหัพภาคหรือจุดจบประโยค (句号)
2. จุลภาคหรือจุดลูกน้ำ (逗号)
3. จุดคั่น (顿号)
4. อัฒภาค (分号)
5. จุดคู่ (冒号)
6. อัศเจรีย์ (惊叹号)
7. อุทาน (感叹号)
รวมทั้งสิ้น 15 ชนิด แต่จะขอพูดถึงแค่ 12 ชนิดเท่านั้น และก่อนจะพูดถึงรายละเอียดของเครื่องหมายวรรคตอนต่าง ๆ ขอทำความเข้าใจในเรื่องหน้าที่โดยรวมของเครื่องหมายวรรคตอนสักเล็กน้อย
๑. เครื่องหมายวรรคตอนกับเครื่องหมายของประโยค
ในสมัยโบราณ คนจีนเขียนหนังสือโดยไม่ใช้เครื่องหมายวรรคตอนเลย ทำให้หนังสือโบราณเป็นหนังสือที่อ่านยาก เพราะไม่รู้ว่าจะแบ่งคั่นประโยคตรงไหนอย่างไร เพื่อให้เข้าใจจึงจำเป็นต้องชำระเนื้อหาในหนังสือด้วยการตัดแบ่งประโยคด้วยเครื่องหมายวรรคตอนต่าง ๆ ให้เหมาะสม และอ่านเข้าใจได้แต่ก็ทำให้การศึกษาหนังสือโบราณของจีนมีข้อโต้แย้งหรือเข้าใจผิดได้ เนื่องจากการคั่นแบ่งข้อความที่ต่างกันนี่เอง
แต่การเรียนภาษาในปัจจุบัน ได้กำหนดให้ผู้เรียนต้องรู้จักใช้เครื่องหมายวรรคตอนต่าง ๆ อย่างถูกต้อง จะได้เขียนสื่อสารกันให้ตรงความหมาย ส่วนผู้อ่านก็สามารถเข้าใจเนื้อหาของข้อความอย่างถูกต้องตามความหมายของผู้เขียน ดังนั้น การใช้เครื่องหมายวรรคตอนต่าง ๆ ให้ถูกต้อง จึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหยอนไปกว่าการใช้อักษรหรือคำ
ถ้าเราพูดคุยกันโดยไม่มีจังหวะเว้นวรรค หรือไม่มีการใช้น้ำเสียงเน้นความหมาย คนฟังก็อาจจะฟังไม่เข้าใจหรือเข้าใจความหมายผิดไปได้ เช่น
大家都关切地问他发生了什么事。
dà jiā dōu guānqiè de wèn tā fāshēng le shénme shì.
ความหมายตามรูปประโยคก็คงได้ แต่เอาเข้าจริง ก็ไม่รู้ว่าผู้พูดต้องการสื่ออะไรกันแน่ เพราะไม่มีการให้วรรคตอนและน้ำเสียงเน้นความหมายซึ่งอาจทำให้เข้าใจแตกต่างกันไป คือ
大家都关切地问:“他发生了什么事?”
dà jiā dōu guānqiè de wèn : “tā fāshēng le shénme shì?”
ทุกคนถามด้วยความห่วงใยว่า “เกิดเรื่องอะไรขึ้นกับเค้า”
大家都关切地问他:“发生了什么事?”
dà jiā dōu guānqiè de wèn tā : “ fāshēng le shénme shì?”
ทุกคนถามเค้าด้วยความห่วงใยว่า “เกิดเรื่องอะไรขึ้น”
ในประโยคแรก จะตีความหมายได้ว่ามีเหตุบางอย่างเกิดขึ้นกับ “เค้า” ในขณะที่ประโยคที่สองกลับไม่รู้แน่ชัดว่าเกิดเหตุขึ้นกับใคร ดังนั้น เป้าหมายที่ถูกถามถึง จึงแตกต่างกัน
เพราะฉะนั้น เวลาพูดเราจึงต้องเว้นจังหวะให้เหมาะสม เพื่อสื่อสารเนื้อหาให้ถูกต้องตามความประสงค์ หรือให้น้ำเสียงเพื่อบอกถึงจุดประสงค์ในการสื่อสาร สิ่งเหล่านี้พอมาอยู่ในภาษาเขียน ก็ต้องใช้เครื่องหมายวรรคตอนต่าง ๆ ช่วย
๒. เครื่องหมายวรรคตอนกับมาลาในประโยค
ประโยคทุกประโยคต้องมีมาลา และการใช้เครื่องหมายวรรคตอนต่าง ๆ ก็ต้องสัมพันธ์กับมาลาในประโยคด้วย มาลาในประโยคต่างกัน จะใช้เครื่องหมายวรรคตอนต่างกัน ในภาษาพูด เราจะใช้น้ำเสียงแสดงถึงมาลาประโยคที่ต่างกัน เช่น เมื่อเป็นการถาม จะเน้นเสียงสูงที่ท้ายประโยค เมื่อเป็นการสั่ง ก็จะเลือกใช้น้ำเสียงห้วนสั้นกระชับ ฯลฯ
แต่ในภาษาเขียน เครื่องหมายวรรคตอนที่อยู่ท้ายประโยค แสดงให้รู้ว่าข้อความข้างหน้าเป็นข้อความเดียวกัน เช่น เครื่องหมายมหัพภาค (句号) เครื่องหมายปรัศนี (问号) เครื่องหมายอัศเจรีย์ (惊叹号)ฯลฯ เครื่องหมายเหล่านี้ใช้กับมาลาในประโยคที่ต่างกัน เช่น เครื่องหมายมหัพภาคใช้ในประโยคบอกเล่า เครื่องหมายปรัศนีใช้ในประโยคคำถาม เครื่องหมายอัศเจรีย์ใช้ในประโยคอุทาน สำหรับประโยคคำสั่ง ก็จะเลือกใช้จุดมหัพภาคหรืออัศเจรีย์ตามแต่ว่าจะสั่ง เตือน ขอร้อง หรือห้ามปราม ฯลฯ
ถ้าเราใช้เครื่องหมายวรรคตอนไม่เหมาะสม ก็อาจทำให้มาลาในประโยคนั้น ๆ เปลี่ยนไป และไม่ตรงกับความหมายที่ต้องการสื่อ เช่น “不要啰嗦。” กับ “不要啰嗦!” (Bu yao luo suo อย่าพูดจุกจิกจู้จี้) สองประโยคนี้เป็นประโยคคำสั่งเหมือนกัน แต่ใช้เครื่องหมายวรรคตอนไม่เหมือนกัน ซึ่งทำให้มาลาในประโยคต่างกันไปด้วย ประโยคแรกใช้เครื่องหมายมหัพภาค สื่อความหมายในเชิงตักเตือนห้ามปราม ส่วนประโยคหลังใช้เครื่องหมายอัศเจรีย์ ให้น้ำเสียงเป็นการสั่งห้าม และต่อไปนี้คือตัวอย่างประโยคที่ใช้เครื่องหมายต่างกันแล้วทำให้มาลาในประโยคต่างกัน เช่น
他来了。 เค้ามาแล้ว (มาลาบอกเล่า)
他来了? เค้ามาแล้ว? (มาลาปรัศนี)
抓住他! จับเค้าไว้ (มาลาคำสั่ง)
抓住他? จับเค้าไว้? (มาลาคำปรัศนี)
我们胜利了。 เราชนะแล้ว (มาลาบอกเล่า)
我们胜利了? เราชนะแล้ว(มาลาคำปรัศนี)
我们胜利了! เราชนะแล้ว(มาลาคำสั่ง)
อ้างอิงจาก หนังสือ “หลักไวยากรณ์จีน ฉบับศึกษาด้วยตนเอง”-อดุลย์ รัตนมั่นเกษม
|